บอกว่าอร่อยภาษาญี่ปุ่น ทานให้อร่อยนะ อร่อยไหมภาษาญี่ปุ่น
คำว่าอร่อยภาษาญี่ปุ่นที่รู้จักกันดีคือคำว่า
美味しい
おいしい
(oishii)
อร่อย
หลายคนเข้าใจว่าคำว่า 旨い (umai) แปลว่าอร่อยเหมือน 美味しい (oishii) แต่จริงๆ แล้วเป็นคำนี้หมายถึงรสชาติกลมกล่อม เมื่อกล่าวถึงรสนี้ คนญี่ปุ่นมักนึกถึงสาหร่ายคมบุ 昆布 (kombu) หรือน้ำซุปที่ต้มจากผักหรือเนื้อสัตว์ที่เรียกว่า だし (dashi)
คนญี่ปุ่นจริงๆ แล้วมีวิธีบอกว่าอร่อยหลายคำ เหมือนการบอกว่าอร่อยภาษาอังกฤษ ดังนั้นคำว่าอร่อยภาษาญี่ปุ่นจึงมีทั้งอร่อยปกติ หรืออร่อยมาก บรรยายรสชาติความอร่อย และบอกว่าอร่อยแบบวัยรุ่น ซึ่งคนเรียนภาษาญี่ปุ่นกับอาจารย์สอนพิเศษหลายคนน่าจะรู้สึกสนใจกับบทเรียนนี้
มาดูกันว่าคำว่าอร่อยในภาษาญี่ปุ่นมีอะไรบ้าง
(1) 美味しい (おいしい | oishii)
คำนี้เป็นหนึ่งในคำคุณศัพท์ภาษาญี่ปุ่นที่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุดและถูกนำมาใช้บ่อยที่สุดเวลาบอกว่าอะไรมีรสชาติอร่อย หากแปลตามตัวอักษรจะแปลว่า “รสชาติที่งดงาม” ซึ่งคำนี้ถือเป็นคำสุภาพ ให้คนที่มีสถานภาพเหนือเราพูดได้และใช้พูดอย่างให้เกียรติได้ด้วย แต่คำๆนี้ไม่ได้สื่อถึงข้อมูลหรือบรรยายลักษณะของอาหารแต่อย่างใด เพียงแค่บอกว่าอาหารนั้นๆ มีรสชาติที่ดีเท่านั้น
- ___はおいしい(です)
(___ha Oishii (desu))
____อร่อยจังเลย
ในภาษาญี่ปุ่น นอกจากคำว่า おいしい หรือ oishii ที่หลายคนคุ้นเคยแล้ว เรายังสามารถใช้คำอื่นๆ มาอธิบายรสชาติอร่อยของอาหารได้มากมาย ดังต่อไปนี้
(2) 妙味 (myoumi)
คำนี้สื่อความหมายถึง “ความประณีต” “วิจิตร” หรือ “พิถีพิถัน” เป็นคำที่ใช้อธิบายรสชาติอาหารที่ละเมียดละไมและเสน่ห์ของอาหารที่หาใดเหมือน ส่วนใหญ่จะใช้พูดถึงอาหารชั้นสูง ในร้านอาหารที่มีระดับและมีชื่อเสียง เราจะไม่ค่อยใช้คำนี้จริงๆจังๆกับอาหารจานด่วนหรือฟาสท์ฟู้ด เพราะจะฟังดูคล้ายกับเราประชดประชันหรือกำลังล้อเล่นมากกว่า
- __妙味がある。
(__ myoumi ga aru.)
รสชาติชั้นเลิศ - _妙味を感じる。
(__Myoumi wo kanjiru.)
มันมีเสน่ห์ที่หาใดเหมือน
(3) 絶品 (zeppin)
เป็นคำที่ใช้เรียกอะไรก็ตามที่เราคิดว่าเป็นผลงานชิ้นเอกระดับมาสเตอร์พีซ เป็นสิ่งที่ดีที่สุด ไม่จำกัดว่าจะใช้เฉพาะกับอาหารเท่านั้น เครือข่ายร้านอาหารขนาดใหญ่มักจะเรียกอาหารจานที่ดีที่สุดหรือได้รับความนิยมมากที่สุดว่า 絶品 (zeppin)
ควรรู้ไว้ว่าหากคำนี้ปรากฎอยู่ในบริบทที่เกี่ยวกับอาหาร โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะใช้ในการโฆษณา และเนื่องจากร้านอาหารประเภทฟาสท์ฟู้ดมักใช้คำนี้ในการอ้างถึงรายการอาหารที่อร่อยที่สุดของร้าน เราจึงไม่เห็นคำนี้ในร้านอาหารหรูๆหรือร้านประเภท fine dining แต่เราก็สามารถใช้คำนี้เพื่อพูดถึงจานที่ดีที่สุดของอาหารประเภทใดประเภทหนึ่งได้
- __はあの店の絶品 (です)。
(__ ha Ano mise no Zeppin (desu)).
___คืออาหารจานที่ดีที่สุดของร้านนั้น
(4) いい味 หรือ よい味 (ii aji หรือ yoi aji)
เมื่อดูความหมายตามตัวอักษรแล้วจะเห็นว่าคำนี้มีคำว่า “ดี” และคำว่า “รสชาติ” ประกอบเข้าด้วยกัน ซึ่งจะใช้สื่อความหมายว่า “รสชาติดี” แต่ไม่ได้สื่อถึงรายละเอียดของอาหารด้านอื่น ไม่ว่าจะเป็นประเภท กลุ่มหรือระดับของอาหารนั้นๆก็ตาม
- __いい味(が)する。
(__ ii Aji (ga) suru. )
__มีรสชาติดี
(5) ウマイ / 旨い / ウマい (umai)
คำว่า “Umai” เป็นคำที่ใช้บอกว่าอาหารนั้นๆมี ”รสชาติดี” เหมือนกับคำว่า “Oishii“ แต่จะแตกต่างกันที่ระดับความเป็นทางการในการใช้เท่านั้น
(6) 風味がよい (fuumi ga yoi)
คำนี้สื่อความหมายถึงอะไรก็ตามที่มีรสอร่อย และไม่เพียงแต่รสอร่อยที่สัมผัสด้วยลิ้นเท่านั้น แต่ยังรวมถึงกลิ่นสัมผัสที่อบอวลอยู่ในอาหารอันเป็นที่พึงพอใจของผู้ที่กำลังจะได้ลิ้มรส ดังนั้นด้วยอารมณ์ความรู้สึกของการใช้ 風味がよい(fuumi ga yoi) อย่างที่ว่านี้ เราจึงไม่ค่อยได้ยินผู้คนใช้คำนี้กันในชีวิตประจำวัน เมื่อต้องการพูดถึงมื้ออาหารปกติทั่วไป
อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่เป็นนักชิมหรือคนที่กำลังพยายามจะบรรยายรสชาติอาหารลงในสื่อต่างๆ สำนวนนี้ก็ยังไม่ค่อยถูกใช้ในการพูดถึงรสชาติอาหาร ประเภทร้านเบอร์เกอร์หรือร้านฟาสท์ฟู้ดอยู่ดี
風味がよい (fuumi ga yoi) เป็นคำบอกลักษณะ ดังนั้นโดยทั่วไปจะอยู่หลังชื่ออาหารและตัว の (no) ดังตัวอย่าง
- __の風味がよいです。
(__no fuumi ga yoi desu.)
___มีรสชาติดี
(7) いける (ikeru)
คำนี้มาจากสำนวนที่ใช้กันในแถบภาคเหนือของประเทศญี่ปุ่น แปลตรงๆ ว่า “มันใช้ได้” หรือ “มันถูกต้อง” คล้ายกับเวลาเราพูดว่า “ได้อยู่ๆ” หรือ “ก็กินได้อยู่นะ” เวลาลองทานอะไรใหม่ๆ ที่ไม่เคยทานมาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราจะใช้สำนวนนี้เมื่อเราไม่แน่ใจในรสชาติของอาหารที่กำลังจะทาน เช่น แมลงทอด หรืออาหารฝีมือน้องสาวที่เพิ่งจะได้ลองทำเองเป็นครั้งแรก เป็นต้น ซึ่งเมื่อลองได้ชิมดูแล้วเราสามารถพูดว่า いける (ikeru) แสดงว่าอาหารที่เราทานนั้นมันโอเคหรืออย่างน้อยก็ให้ผ่านได้ เพราะดีกว่าที่เราคาดไว้
(8) コクがある (koku ga aru)
สำนวนนี้มีความหมายว่า “รสชาติเข้มข้น” หรือ “ส่งผลมาก” แต่ไม่ได้หมายความว่ามีรสชาติจัดจ้านจนเกินไปหรือมุ่งเน้นไปที่รสชาติใดรสชาติหนึ่ง แต่กลับหมายถึงรสชาติที่ลึกซึ้ง ละเมียดละไม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับศิลปะในการทำอาหารญี่ปุ่นที่มักถูกขนานนามว่า “บริสุทธิ์” แต่เต็มไปด้วยรสชาติที่ละเอียดอ่อน
ความแตกต่างขัดแย้งกันเช่นนี้ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ “ราเมน” ที่เต็มไปด้วยมิติของรสชาติ ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดที่จะบอกว่าราเมนมีรสชาติเข้มข้นก็คือคำว่า コクがある (koku ga aru) นั่นเอง
(9) 乙な味 (otsu na aji)
ความหมายของสำนวนนี้ค่อนข้างคลุมเครือ เหมือนกับจะบอกว่าอร่อยเหรือไม่อร่อยก็ได้ แต่ในปัจจุบันมักจะสื่อความหมายถึงรสชาติแปลกๆหรือรสเผ็ดมากกว่า อาจจะหมายถึงรสชาติที่ไม่เป็นตามที่คาดไว้ หรืออาจจะเผ็ดเกินกว่าที่เราจินตนาการ อาจจะดีหรือไม่ดี แต่ส่วนใหญ่จะหมายความว่ามันมีรสชาติที่ทำให้แปลกใจจนเราคาดไม่ถึง แนะนำว่าให้เลี่ยงการใช้สำนวนนี้จะดีกว่าเพราะบางครั้งมันก็สื่อความหมายใกล้เคียงกับคำว่ารสชาติไม่อร่อยด้วย
(10) やばい (yabai)
คำว่า やばい (yabai) มีความหมายและวิธีใช้ที่หลากหลาย เป็นคำที่มีความหมายทรงพลัง มักถูกใช้ในหมู่คนรุ่นใหม่เพื่ออธิบายความอร่อยของอาหาร บางครั้ง やばい (yabai) สามารถใช้บ่งบอกถึงความอร่อยหรืออาจจะสื่อความหมายว่าปริมาณอาหารน้อยจนไม่พอ ซึ่งความหมายจะเปลี่ยนไปตามน้ำเสียงของคำนั้นขณะพูดนั่นเอง
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราบอกว่า “เค้กชิ้นนี้มันสุดยอด(やばい l yabai ) จริงๆ” ด้วยน้ำเสียงที่ฟังดูมีความสุข แสดงว่าเค้กนั้นมีรสชาติดีจริงๆ ขณะเดียวกันหากบอกว่า “รสชาตินี้มันสุดยอดเลยว่ะ” ด้วยน้ำเสียงขยะแขยงแสดงความรังเกียจ แสดงว่ามันไม่อร่อยและก็แย่มากด้วย
แต่ปกติแล้วเวลาแนะนำสถานที่หรือมีใครบอกว่า
- この前ヤバイなレストラン行ってきたよ!
(Kono mae, yabai resutoran ittekita yo!)
เมื่อไม่นานมานี้ ฉันไปร้านอาหารร้านนึงที่สุดยอดเลย
ประโยคนี้จะสื่อความหมายว่าร้านอาหารนั้นดีจริงๆ ซึ่งโดยปกติจะพูดด้วยโทนเสียงที่ดีด้วย
หมายเหตุเพิ่มเติมสำหรับคำว่า やばい (yabai)
ทำไมเราไม่ควรใช้คำนี้มากเกินไป?
คำว่า やばい (yabai) เป็นสำนวนง่ายๆ ที่หยิบมาใช้ได้ตลอดเมื่อไม่รู้จะอธิบายว่าอะไรอร่อยหรือไม่อร่อยอย่างไร หรือบางครั้งเราก็ไม่อยากจะพูดคำพื้นๆ ทั่วไป เราก็แค่พูดว่า
- やばいね!
(Yabai, ne!)
สุดยอดไปเลย!
ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ดีที่จะบอกว่าเราชอบสิ่งนั้นให้คนข้างๆรู้
แต่ต้องจำไว้อย่างหนึ่งว่า สำหรับคนรุ่นเก่าแล้วคำนี้อาจจะมีความหมายในเชิงลบ ดังนั้นในกรณีนี้เราควรเลี่ยงการใช้คำว่า やばい (yabai) กับคนที่ดูอายุมากกว่า หากเราทำเช่นนั้น สุดท้ายแล้วพวกเขาอาจจะเข้าใจผิดและคิดว่าเราบอกไม่อร่อยหรือไม่ตรงกับรสชาติที่เราชอบก็ได้
สำหรับการใช้สำนวนหรือคำคมภาษาญี่ปุ่นความหมายดีๆ ซึ่งมีมากมาย แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้เรียนต้องทำความเข้าใจความหมายและบริบทการใช้ของสำนวนนั้นอย่างถ่องแท้เสียก่อน เพราะบางครั้ง การใช้สำนวนผิดๆ กาละเทศะ ก็อาจนำมาซึ่งความเข้าใจผิดได้ เหมือนกับการใช้คำว่า やばい (yabai) นั่นเอง
(11) 極上の味 (gokujou no aji)
สำนวนนี้แปลตามตัวอักษรหมายถึง “ชั้นหนึ่ง” หรือ “รสชาติที่ดีที่สุด” มักใช้เพื่ออธิบายรสชาติของอาหารจานที่ดีที่สุดในร้านหรือประเภทอาหารที่นำเสนอออกมา โดยทั่วไปนักวิจารณ์อาหารหรือร้านอาหารเองจะใช้คำนี้เพื่ออ้างถึงอาหารจานที่อร่อยที่สุด แม้ว่าอาหารจานนั้นจะมีราคาแพงกว่าเมนูอื่นก็ตาม
สำนวนนี้ยังใช้ในร้านอาหารที่ขายอาหารธรรมดาๆแต่มีคุณภาพสูงกว่าปกติ อย่างเช่น ร้านเบอร์เกอร์ที่มีราคาแพงกว่าเมื่อเทียบกับร้านเบอร์เกอร์ที่มีตัวตลกเป็นพรีเซนเตอร์ เป็นต้น
(การใช้สำนวนนี้ไม่ได้ตัดสินใจว่าอะไรดีกว่าอะไร แค่เพียงบ่งบอกถึง “รสชาติที่ละเมียดละไม” มากกว่า ซึ่งสำนวนนี้ยังปรากฎอยู่ในการ์ตูนอนิเมะและมังงะด้วย เช่น ตัวละครลูกคุณหนูไฮโซผู้ร่ำรวยใช้สำนวนนี้ล้อเลียนรสนิยมของใครบางคนที่ไม่เข้าใจความอร่อยของอาหารที่มีราคาแพง เป็นต้น)
(12) 味わい深い (ajiwai fukai)
สำนวนนี้อาจจะถูกมองว่าเป็นสำนวนที่ตรงกันข้ามกับสำนวนก่อนหน้านี้ คือ コクがある (Koku ga aru) กล่าวคือ
味わい深い (ajiwai fukai) จะใช้เพื่อกล่าวถึงอาหารที่นำเสนอรสชาติที่ซับซ้อนและมีรสแฝงที่ต่างออกไปซ่อนอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอ้างถึงรสชาติที่มีหลายชั้นซ้อนกันอยู่ในอาหารบางชนิด และยังสามารถใช้อ้างถึงรสชาติของอาหารบางอย่างที่มีรสสัมผัสดี รสชาติดี แม้จะกลืนไปแล้วก็ยังรู้สึกว่ามีรสชาติละเมียดละไมอยู่ในปาก และรับรู้ได้ว่าคนทำอาหารนี้ ทำอย่างพิถีพิถันด้วยความตั้งใจ
สำนวนนี้และสำนวนก่อนหน้า ได้แก่ 極上の味 (Gokujou no Aji) จะสื่อความหมายถึงอาหารที่มีรสชาติดี และเป็นเรื่องปกติที่จะได้ยินคำนี้เมื่อมีการกล่าวถึงรสชาติของอาหารที่มีราคาแพง หรือพิถีพิถันในการปรุงอาหาร มันไม่ได้สื่อความหมายว่าเราชอบมันหรือไม่ แค่เพียงบ่งบอกว่ามีรสชาติที่ละเอียดอ่อนมากมายซ่อนอยู่ในอาหารเท่านั้น
(13) 風味 (fuumi)
คำว่า 風味 (fuumi) จะใช้เมื่อต้องการบอกว่าอาหารนั้นๆ มี “รสชาติเทียม” หรือมีการเติมส่วนผสมเลียนแบบรสธรรมชาติบางอย่างใส่ลงไปทั้งที่ไม่ได้มีส่วนผสมของสิ่งนั้นจริงๆ ส่วนใหญ่จะใช้เพื่อกล่าวถึงอาหารที่รสชาติดี หรือใช้บรรยายอาหารหรือเครื่องดื่มที่ไม่ได้โชว์รสชาติที่แท้จริงของอาหารนั้นๆ หรือสิ่งที่เรารับประทานไม่จำเป็นต้องปรุงจากส่วนผสมของรสชาติอาหารที่แสดงออกมา
นอกจากนี้ สำนวนนี้ยังถูกใช้เพื่อการโฆษณารสชาติอาหาร โดยทั่วไปจะใช้อ้างว่ามีรสชาติเหมือนกับอาหารที่มีส่วนผสมที่มีคุณภาพสูงหรือราคาแพงกว่า ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในอาหาร อาจใช้สารปรุงแต่งหรือส่วนผสมจริงในปริมาณเพียงเล็กน้อย
หมายเหตุเพิ่มเติมสำหรับคำว่า 風味 (fuumi)
เราจะใช้สำนวนนี้อย่างไร ยกตัวอย่างเช่น บ่อยครั้งเราจะเห็นเนยเทียมในร้านค้าเขียนว่า
- バター風味
(Bataa fuumi)
เนยฟูมิ
หรือสังเกตเห็นได้ชัดเจนจากชีสในร้านขายของชำที่มีราคาค่อนข้างแพงในญี่ปุ่น
- チェダー風味
(chedaa fuumi)
รสเชดดาร์ชีส - マスカルポーネチーズ風味
(mascarpoone chiizu fuumi)
รสมาสคาร์โปนชีส
หรือเห็นได้ที่ซองมันฝรั่งทอดกรอบที่มีรสชาติแปลกๆหลากหลาย ในร้านสะดวกซื้อ เช่น
- 和牛肉風味
(Wagyuuniku Fuumi)
รสเนื้อวากิวญี่ปุ่น
สังเกตว่าบางครั้งบริษัทอาหารต่างๆ มีเทคนิคในการใส่คำว่า 風味 (fuumi) ตัวเล็กที่สุดที่สามารถจะใส่ได้เพื่อโฆษณาให้เหมือนกับว่ามีส่วนผสมจริงๆแทน
การเรียนภาษาญี่ปุ่น เราสามารถเริ่มต้นได้ง่ายๆ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้คำศัพท์และประโยคภาษาญี่ปุ่นสั้นๆ ที่สามารถใช้ได้ทุกวัน หรือจะเป็นการจดจำคำศัพท์เกี่ยวกับเมนูอาหารภาษาญี่ปุ่นที่จำเป็น หรือแม้แต่ฝึกสั่งอาหารหรือสั่งกาแฟภาษาญี่ปุ่นเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่เราพบเจอได้ในชีวิตประจำวันและใช้ได้จริง ทำให้การเรียนรู้ภาษาของเราพัฒนาได้อย่างเป็นธรรมชาติ