Pronoun ภาษาอังกฤษ เรียนคำสรรพนามภาษาอังกฤษ 9 ประเภท

คำสรรพนามในภาษาอังกฤษคืออะไร?

Pronouns หรือ คำสรรพนามภาษาอังกฤษ คือ คำที่ใช้ระบุและแทนคำนามที่แสดงบุคคล สิ่งของ หรือสิ่งต่างๆ วัตถุประสงค์หลักของการใช้คำสรรพนามคือ เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้คำนามเดิมๆ ซ้ำๆ อีกทั้งยังทำให้ประโยคกระชับ เข้าใจง่ายอีกด้วย

เช่น หากเราเรียกแฟนเป็นภาษาอังกฤษด้วยชื่อหรือเรียกว่า my girlfriend ไปแล้ว เมื่อเราต้องการพูดถึงแฟนอีกครั้ง เราจะใช้คำว่า “she” แทนเพื่อจะได้ไม่ต้องเรียกชื่อหรือใช้คำซ้ำๆมากเกินไป

เปรียบเทียบตัวอย่างประโยคที่มีคำนามและประโยคที่มีคำสรรพนาม

ประโยคที่มีคำนามประโยคที่มีคำสรรพนาม
My sister loves cookies.
(น้องสาวของฉันชอบคุ้กกี้)
She loves cookies.
(เธอชอบคุ้กกี้)
Your father is very brave.
(พ่อของคุณกล้าหาญมาก)
He is very brave.
เขากล้าหาญมาก
This book is terrible.
(หนังสือเล่มนี้ไม่ได้เรื่องเลย)
It is terrible.
มันไม่ได้เรื่องเลย

ตัวอย่างดังกล่าวเป็นเพียงคำสรรพนามประเภทหนึ่งที่เรียกว่า “บุรุษสรรพนาม” เท่านั้น จริงๆแล้วคำสรรพนามในภาษาอังกฤษมีมากถึง 9 ประเภท แต่ละประเภทใช้เพื่อวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน ในบทเรียนภาษาอังกฤษกับติวเตอร์อังกฤษบทนี้ เราจะมาดูว่าคำสรรพนามแต่ละประเภทมีอะไรบ้าง และมีวิธีใช้อย่างไร

1. Personal Pronouns — บุรุษสรรพนาม

Personal Pronouns หรือบุรุษสรรพนาม ไม่ได้หมายถึงคนหรือบุคคลเท่านั้น แต่สามารถใช้เรียกแทนสัตว์หรือสิ่งของได้ด้วย เราน่าจะคุ้นเคยกับบุรุษสรรพนามกันมากที่สุด เพราะสรรพนามประเภทนี้จะถูกสอนตั้งแต่เริ่มเรียนภาษาอังกฤษกันเลยทีเดียว

รูปของบุรุษสรรพนามจะเปลี่ยนไปตามเงื่อนไขต่อไปนี้ :

  • ใครที่เรากำลังพูดถึง
  • เพศ (เปลี่ยนเฉพาะในสรรพนามบุรุษที่สาม)
  • จำนวนของสิ่งหรือคนที่กำลังพูดถึง

และบุรุษสรรพนามยังสามารถแบ่งออกได้อีกสองประเภทตามหน้าที่ของมันในประโยค

Subject Personal Pronouns — บุรุษสรรพนามที่ทำหน้าที่เป็นประธาน

สรรพนามประเภทนี้ทำหน้าที่เป็นประธานของประโยค ใช้แทนคน, สัตว์หรือสิ่งของที่แสดงหรือกระทำกริยาในประโยค

บุรุษสรรพนามที่ทำหน้าที่เป็นประธานมีทั้งหมด 8 ตัว ได้แก่

สรรพนามสถานะบุคคลและเพศใช้อ้างถึงตัวอย่าง
Iเอกพจน์บุรุษที่หนึ่ง,
เพศชายหรือเพศหญิง
ตัวเราเองI love cats.
(ฉันรักแมว)
Youเอกพจน์บุรุษที่สอง,
เพศชายหรือเพศหญิง
คนที่เรากำลังพูดด้วย
(คนเดียว)
You aren’t bored, are you?
(คุณยังไม่เบื่อใช่มั้ย)
Heเอกพจน์บุรุษที่สาม,
เพศชาย
เขาผู้ชายคนหนึ่งHe is a teacher.
(เขาเป็นครู)
Sheเอกพจน์บุรุษที่สาม,
เพศหญิง
เขาผู้หญิงคนหนึ่งShe loves cooking.
(เธอชอบทำอาหาร)
Itเอกพจน์บุรุษที่สาม,
ไม่มีเพศ
สิ่งใดสิ่งหนึ่งIt was under the table.
(มันอยู่ใต้โต๊ะ)
Weพหูพจน์บุรุษที่หนึ่ง,
เพศชายหรือเพศหญิง
คนกลุ่มหนึ่งที่รวมตัวเราเองWe are playing football.
(พวกเรากำลังเล่นฟุตบอล)
You,
You all
พหูพจน์บุรุษที่สอง
เพศชายหรือเพศหญิง
คนกลุ่มหนึ่งที่ไม่รวมตัวเรา
และเรากำลังพูดด้วย
You all are invited to the party.
(พวกคุณทั้งหมดได้รับเชิญไปงานเลี้ยง)
Theyพหูพจน์บุรุษที่สาม
เพศชายหรือเพศหญิง
กลุ่มของคน/สัตว์/สิ่งของ
ที่ถูกพูดถึง
There They are!
(พวกเขาอยู่ที่นั่น!)

Object Personal Pronouns — บุรุษสรรพนามที่ทำหน้าที่เป็นกรรม

เป็นบุรุษสรรพนามที่ทำหน้าที่เป็นกรรมของประโยค ได้แก่

สรรพนามสถานะบุคคลและเพศใช้อ้างถึงตัวอย่าง
meเอกพจน์บุรุษที่หนึ่ง,
เพศชายหรือเพศหญิง
ตัวเราเองA black dog bit me.
(สุนัขสีดำกัดฉัน)
youเอกพจน์บุรุษที่สอง,
เพศชายหรือเพศหญิง
คนที่เรากำลังพูดด้วยI love you.
(ฉันรักคุณ)
himเอกพจน์บุรุษที่สาม, เพศชายเขาผู้ชายคนหนึ่งThat bike belongs to him.
จักรยานคันนั้นเป็นของเขา
herเอกพจน์บุรุษที่สาม, เพศหญิงเขาผู้หญิงคนหนึ่งA ball hit her on the left leg.
ลูกบอลโดนเธอที่ขาซ้าย
itเอกพจน์บุรุษที่สาม, ไม่มีเพศสิ่งใดสิ่งหนึ่งI lost it at the market.
ฉันทำมันหายที่ตลาด
usพหูพจน์บุรุษที่หนึ่ง,
เพศชายหรือเพศหญิง
คนกลุ่มหนึ่งที่รวมตัวเราเองIt’s too hard for us.
มันยากเกินไปสำหรับเรา
you, you allพหูพจน์บุรุษที่สอง
เพศชายหรือเพศหญิง
คนกลุ่มหนึ่งที่ไม่รวมตัวเรา
และเรากำลังพูดด้วย
He wants you all to sing along.
(เขาต้องการให้ทุกคนร้องตาม)
themพหูพจน์บุรุษที่สาม
เพศชายหรือเพศหญิง
กลุ่มของคน/สัตว์/สิ่งของ
ที่ถูกพูดถึง
A fat cat watched them with sleepy eyes.
(แมวตัวอ้วนมองพวกเขาด้วยตาปรือๆ)

2. Possessive Pronouns — สรรพนามแสดงความเป็นเจ้าของ

สรรพนามแสดงความเป็นเจ้าของ คือ คำที่ใช้แทนคำนามเพื่อแสดงความเป็นเจ้าของ แสดงถึงการครอบครอง (ใครเป็นเจ้าของอะไร)

คำสรรพนามแสดงความเป็นเจ้าของยังมีรูปที่แตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับสถานะของบุรุษหรือบุคคลในทางไวยากรณ์ และยังเปลี่ยนตามเพศของคำนามอีกด้วย (ในกรณีเป็นสรรพนามเอกพจน์บุรุษที่สาม) แต่ไม่ได้ระบุถึงจำนวนของคำนามนั้น

This is my book. It is mine.
(นี่คือหนังสือของฉัน → มันเป็นของฉัน)

These are my books.They are mine.
(เหล่านี้เป็นหนังสือของฉัน → (หนังสือ)เหล่านี้เป็นของฉัน)

เช่นเดียวกับบุรุษสรรพนาม คำสรรพนามแสดงความเป็นเจ้าของหนึ่งตัวจะแทนบุรุษหรือบุคคลทางไวยากรณ์แต่ละตัว ดังต่อไปนี้

สรรพนามสถานะบุคคลและเพศใช้อ้างถึงตัวอย่าง
mineเอกพจน์บุรุษที่หนึ่ง,
เพศชายหรือเพศหญิง
ตัวเราเองThe bird is mine.
(นกเป็นของฉัน)
yoursเอกพจน์บุรุษที่สอง,
เพศชายหรือเพศหญิง
คนที่เรากำลังพูดด้วยIs this pen yours?
(ปากกาแท่งนี้ของคุณหรือเปล่า?)
hisเอกพจน์บุรุษที่สาม,
เพศชาย
เขาผู้ชายคนหนึ่งThat is his blanket.
(นั่นเป็นผ้าห่มของเขา)
hersเอกพจน์บุรุษที่สาม,
เพศหญิง
เขาผู้หญิงคนหนึ่งThese hats are hers.
(หมวกพวกนี้เป็นของเธอ)
itsเอกพจน์บุรษที่สาม,
ไม่มีเพศ
สิ่งใดสิ่งหนึ่งShe could hear its footsteps.
(เธอได้ยินเสียงฝีเท้าของมัน)
oursพหูพจน์บุรุษที่หนึ่ง,
เพศชายหรือเพศหญิง
คนกลุ่มหนึ่งที่รวมตัวเราเองOurs is one very old bedroom.
(ห้องของเราเป็นห้องนอนที่เก่ามากห้องหนึ่ง)
yoursพหูพจน์บุรุษที่สอง,
เพศชายหรือเพศหญิง
คนกลุ่มหนึ่งที่ไม่รวมตัวเรา
และเรากำลังพูดด้วย
Tell me about yours.
(เล่าเรื่องของพวกคุณให้ฉันฟังซิ)
theirsพหูพจน์บุรุษที่สาม,
เพศชายหรือเพศหญิง
กลุ่มของคน/สัตว์/สิ่งของ
ที่ถูกพูดถึง
I have no idea where this juice came from, I think it’s theirs.
(ฉันไม่รู้ว่าน้ำผลไม้นี้มาจากไหน ฉันคิดว่าเป็นของพวกเขา)

3. Demonstrative Pronouns — สรรพนามชี้เฉพาะ

สรรพนามชี้เฉพาะ เป็นคำสรรพนามที่เราใช้เรียกและชี้ไปยังคน, สัตว์หรือสิ่งใดๆอย่างเฉพาะเจาะจง

คำสรรพนามชี้เฉพาะหลักๆมี 4 คำด้วยกัน คือ

สรรพนามระยะห่างจำนวนตัวอย่าง
thisใกล้เอกพจน์This is so cool.
(นี่มันเจ๋งมาก)
thatไกลเอกพจน์That was very fun.
(นั่นมันสนุกมาก)
theseใกล้พหูพจน์These are my other three son.
(นี่คือลูกชายอีกสามคนของฉัน)
thoseไกลพหูพจน์I want those in my room.
(ฉันอยากให้พวกนั้นอยู่ในห้องของฉัน)

จะเห็นว่า สิ่งที่จะต้องคำนึงถึง เมื่อใช้สรรพนามเหล่านี้มีอยู่สองอย่าง คือ ระยะห่างจากผู้พูด (ไม่ว่าจะเป็นระยะห่างตามพื้นที่หรือเวลาก็ตาม) และจำนวนของคำนามที่เราอ้างถึง

เมื่อต้องกล่าวถึงจำนวนของคำนาม คำอีกประเภทที่เรามักใช้ควบคู่กับคำสรรพนามประเภทนี้คือ ลักษณนาม อัน, ชิ้น ภาษาอังกฤษ ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวบอกรูปลักษณะของสิ่งต่างๆ เช่น bag of (ถุง), bottle of (ขวด) เป็นต้น

4. Indefinite Pronouns — สรรพนามไม่ชี้เฉพาะ

สรรพนามไม่ชี้เฉพาะ คือ สรรพนามที่ใช้อ้างถึงคน, สัตว์, สิ่งของและจำนวนใดๆ อย่างไม่ชี้เฉพาะเจาะจง

หมายความว่าเราจะอ้างถึงคำนามที่ไม่ได้เจาะจงว่าเป็นคนไหน ตัวไหนหรืออันไหน แต่จะอ้างอิงถึงคำนามใดๆ ในหมวดหมู่ที่ผู้พูดกำลังพูดถึงแทน เช่น

Anybody can do it.
(ใครก็สามารถทำได้)

หมายเหตุ : ทุกคนสามารถทำได้

I already have enough to build a castle.
(ฉันมีพอที่จะสร้างปราสาทสักหลังแล้ว)

หมายเหตุ : ฉันมีอะไรบางอย่างในปริมาณที่พอจะสร้างปราสาทได้ อาจจะหมายถึงทรายหรือเงินก็ได้

สรรพนามไม่ชี้เฉพาะเป็นสรรพนามที่มีจำนวนมากที่สุด แต่มีคำหลักๆในกลุ่มนี้ที่พบบ่อย ได้แก่

  • another = สิ่งอื่น, อย่างอื่น, คนอื่น
  • other = อีกอันหนึ่ง, คนอื่น, สิ่งอื่น
  • anybody = ใครๆ, ใครก็ได้ยิน, คนใดคนหนึ่ง
  • anyone = ใครๆ, ทุกๆคน, ใครต่อใคร
  • somebody = บางคน
  • someone = บางคน, คนนั้นคนนี้
  • nobody = ไม่มีใคร
  • no one = ไม่มีใคร
  • everybody = ทุกคน, ทุกท่าน
  • everyone = ทุกคน
  • nothing = ไม่มีอะไร, ไม่มีสิ่งไหน
  • anything = ใดๆ, สิ่งต่างๆ, บางสิ่งบางอย่าง
  • something = บางสิ่ง
  • everything = ทุกสิ่ง
  • each = แต่ละ, คนละ, ทีละคน
  • either = อย่างใดอย่างหนึ่งในจำนวนสอง
  • neither = ต่างก็ไม่, ไม่ทั้งสอง
  • one = คนหรือสิ่งใดๆที่ไม่เฉพาะเจาะจง
  • enough = พอ, เพียงพอ
  • less = จำนวนหรือปริมาณน้อยที่น้อยกว่า
  • little = ปริมาณเล็กน้อย
  • much = จำนวนหรือปริมาณมาก
  • more = จำนวนหรือปริมาณที่น้อยกว่าของบางสิ่งบางอย่าง
  • both = ทั้งสอง
  • few = จำนวนเล็กน้อย
  • fewer = คนหรือสิ่งของจำนวนเล็กน้อย
  • several = มากกว่าสองแต่ไม่มาก
  • many = คนหรือสิ่งของจำนวนมาก
  • others = คนหรือสิ่งของที่แตกต่างจากสิ่งที่กล่าวถึงไปแล้ว
  • all = ทุกคน, จำนวนทั้งหมด
  • any = จำนวนหนึ่ง
  • most = จำนวนมากที่สุด, ปริมาณมากที่สุด
  • least = ปริมาณ ขอบเขตหรือนัยสำคัญที่น้อยที่สุด,
  • some = คนหรือสิ่งของที่ไม่ระบุจำนวนหรือปริมาณที่แน่นอน
  • such = สิ่งที่เป็นประเภทเดียวกับสิ่งที่กล่าวถึงไปแล้ว
  • none = ไม่มีสักสิ่ง, ไม่มีสักคน

จะเห็นได้ว่าคำสรรพนามไม่ชี้เฉพาะนี้มีความหลากหลายมากจนสามารถแบ่งออกเป็นหมวดหมู่ย่อยๆ ได้อีกหลายประเภท เช่น คำสรรพนามที่

  • ใช้แทนคนได้เท่านั้น : anybody, anyone, somebody, someone, nobody, no one, everybody, everyone.
  • ใช้แทนสิ่งต่างๆเท่านั้น : anything, something, nothing, everything.
  • ใช้แทนคำนามนับได้เท่านั้น : few, fewer, several, many, others.
  • ใช้แทนคำนามนับไม่ได้เท่านั้น : little, less, least.

คำสรรพนามไม่ชี้เฉพาะอาจแบ่งออกเป็นหมวดหมู่ตามกฏการใช้ทางไวยากรณ์ดังนี้

Singular indefinite pronouns — คำสรรพนามไม่ชี้เฉพาะเอกพจน์

ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างคำสรรพนามไม่ชี้เฉพาะที่ใช้ในรูปเอกพจน์ ดังนั้นจึงใช้กับคำกริยารูปเอกพจน์ เช่น is, was, has, does เป็นต้น

  • one
  • anyone, everyone, no one, someone
  • anybody, everybody, nobody, somebody
  • another, the other
  • either, neither
  • each
  • little, less
  • much

Plural indefinite pronouns — คำสรรพนามไม่ชี้เฉพาะพหูพจน์

ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างคำสรรพนามไม่ชี้เฉพาะที่ใช้ในรูปพหูพจน์ ดังนั้นจึงต้องใช้คำกริยาเหล่านี้กับคำกริยารูปพหูพจน์ด้วย เช่น are, were, have, do เป็นต้น

  • both
  • few, fewer
  • many
  • others
  • several

สรรพนามไม่ชี้เฉพาะที่ใช้ได้ทั้งรูปเอกพจน์และพหูพจน์

คำสรรพนามไม่ชี้เฉพาะต่อไปนี้สามารถใช้ได้ทั้งรูปเอกพจน์และพหูพจน​์

  • all
  • any
  • more
  • most
  • none
  • some

เรามาดูตัวอย่างการใช้คำสรรพนามที่ใช้ในทั้งรูปเอกพจน์และพหูพจน์

All of the cake is gone.
เค้กทั้งหมดมันหมดเสียแล้ว
(คำว่า cake ในที่นี้เป็นคำนามเอกพจน์ ดังนั้น all ใช้กับคำกริยาเอกพจน์ is)

All of the cupcakes are gone.
คัพเค้กทั้งหมดมันหมดเสียแล้ว
(คำคำว่า cupcakes เป็นคำนามพหูพจน์ ดังนั้น all ใช้กับกริยาพหูพจน์ are)

None of the meat has spoiled.
เนื้อยังไม่เสียเลย
(คำว่า meat เป็นคำนามเอกพจน์ ดังนั้น none ใช้กับกริยาเอกพจน์ has)

None of the apples have spoiled.
แอปเปิ้ลยังไม่เสียเลยสักลูก
(คำว่า apples เป็นคำนามพหูพจน์ ดังนั้น none ใช้กับกริยาพหูพจน์ have)

Possessive indefinite pronouns — คำสรรพนามแสดงความเป็นเจ้าของแบบไม่ชี้เฉพาะ

ในขณะที่บุรุษสรรพนามจะต้องมีการใช้คำแสดงความเป็นเจ้าของให้ตรงรูปประธานและกรรม คำสรรพนามแสดงความเป็นเจ้าของแบบไม่ชี้เฉพาะต้องเติม ’s

I found somebody’s wallet on the hiking path.
ฉันเจอกระเป๋าสตางค์ใครก็ไม่รู้บนทางขึ้นเขา

The server brought everyone’s order except Tim’s.
พนักงานเสิร์ฟเอาอาหารของทุกคนออกมาเสิร์ฟยกเว้นของทิม

5. Relative Pronouns — ประพันธสรรพนาม

Relative pronouns หรือ ประพันธสรรพนาม เป็นสรรพนามที่ใช้ขยายนามที่อยู่ข้างหน้าเพื่อให้มีความหมายชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยจะวางอยู่ตอนต้นของอนุประโยค

สรรพนามประเภทนี้ถูกเรียกว่า “relative” เนื่องจากพวกมันใช้แทนคำนามที่ถูกอธิบายหรือขยายความด้วยอนุประโยค หรือ “relative clause” นั่นเอง วิธีง่ายๆ ในการสังเกตว่าส่วนหนึ่งของประโยคเป็น “relative clause” หรือไม่ คือการตัดมันออกไป หากประโยคนั้นยังสมเหตุสมผลอยู่ แสดงว่ามันคือ “relative clause” นั่นเอง

คำสรรพนามที่ใช้แทนคำนามที่อยู่ข้างหน้า มีดังต่อไปนี้

สรรพนามใช้อ้างถึงตัวอย่าง
who/whomคนThe musician who wrote this song is Korean.
(นักดนตรีที่แต่งเพลงนี้เป็นคนเกาหลี)
whichสัตว์หรือสิ่งต่างๆSushi, which I eat twice a week, is my favorite food.
(ซูชิที่ฉันกินสัปดาห์ละสองครั้งเป็นอาหารจานโปรดของฉัน)
thatคน, สัตว์หรือ
สิ่งต่างๆ
The shirt that he wore yesterday is red.
(เสื้อตัวที่เขาใส่เมื่อวานนี้เป็นสีแดง)
whoseคน, สัตว์หรือ
สิ่งต่างๆ
The girl whose hair is black is winning the competition.
(สาวผมดำเป็นผู้ชนะการแข่งขัน)

คำประพันธสรรพนามที่สร้างความสับสนให้แก่ผู้ใช้ภาษาอังกฤษไม่น้อย แม้แต่เจ้าของภาษาเองก็อยากจะหลีกเลี่ยงการใช้เพราะไม่แน่ใจว่า วิธีใช้ whom, who ภาษาอังกฤษต่างกันยังไง ทำให้เจ้าของภาษาเองก็ไม่ค่อยใช้คำว่า whom แม้ตามหลักภาษาแล้วสมควรต้องใช้ก็ตาม ส่วนในงานเขียนที่เป็นทางการและบทความเชิงวิชาการยังพบการใช้คำว่า whom ปกติ

6. Interrogative pronouns — สรรพนามที่ใช้ในประโยคคำถาม

คำสรรพนามประเภทนี้มีลักษณะเกือบจะเหมือนกับ “relative pronoun” (ยกเว้นคำว่า “that” ที่เปลี่ยนเป็น “what”)

และคำสรรพนามกลุ่มนี้ไม่ได้อธิบายหรือให้ข้อมูลอะไรเกี่ยวกับคำนาม แต่ “interrogative pronouns” จะใช้เพื่อถามคำถามเกี่ยวกับคน, สัตว์ สิ่งของและความเป็นเจ้าของแทน

สรรพนามถามเกี่ยวกับตัวอย่าง
who/whomคนWho is that girl?
(เด็กผู้หญิงคนนั้นคือใคร)
whichสัตว์และสิ่งต่างๆWhich car do you like best?
(คุณชอบรถคันไหนมากที่สุด)
whatคน, สัตว์และสิ่งต่างๆWhat do you want for breakfast?
(คุณต้องการอะไรเป็นอาหารเช้า)
whoseคน, สัตว์และสิ่งต่างๆ
(ความเป็นเจ้าของ)
Whose book is this?
(หนังสือเล่มนี้ของใคร)

นอกจากตัวอย่างคำสรรพนามที่กล่าวไปแล้ว ยังมีคำสรรพนามที่ใช้ในประโยคคำถามอื่นๆ อีก เช่น when, why, where เป็นต้น ซึ่งได้ใช้บ่อยในสถานการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการถามทางบอกทางภาษาอังกฤษ หรือในประโยคภาษาอังกฤษง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน

7. Reflexive pronouns — สรรพนามแสดงตนเอง

“Reflexive pronouns” คือ คำสรรพนามที่ใช้แทนคน, สัตว์หรือสิ่งต่างๆที่เป็นประธานในประโยคเอง เพื่อเน้นว่าประธานนั้นกระทำกริยาต่อตนเอง เช่น bathing(oneself) อาบน้ำเอง

ต่อไปนี้คือ “Reflexive pronouns”ที่มีรูปแตกต่างกันไปตามแต่ละสถานะของบุรุษหรือบุคคลทางไวยากรณ์

สรรพนามสถานะบุคคลและเพศใช้อ้างถึงตัวอย่าง
myselfเอกพจน์บุรุษที่หนึ่ง,
เพศชายหรือเพศหญิง
ตัวเราเองI look at myself in the mirror.
(ฉันมองดูตัวเองในกระจก)
yourselfเอกพจน์บุรุษที่สอง,
เพศชายหรือเพศหญิง
คนที่เรากำลังพูดด้วยYou take care of yourself and come visit me sometime.
(ดูแลตัวเองดีๆและมาเยี่ยมฉันบ้าง)
himselfเอกพจน์บุรุษที่สาม,
เพศชาย
เขาผู้ชายคนหนึ่งHe accidentally cut himself while shaving.
(เขาบังเอิญทำมีดบาดตัวเองขณะกำลังโกนหนวด)
herselfเอกพจน์บุรุษที่สาม,
เพศหญิง
เขาผู้หญิงคนหนึ่งShe’s not herself today after a nightmare last night.
(วันนี้เธอไม่เป็นตัวของตัวเองเลยหลังจากฝันร้ายเมื่อคืนนี้)
itselfเอกพจน์บุรุษที่สาม,
ไม่มีเพศ
สิ่งใดสิ่งหนึ่งThe wound healed itself quickly.
(บาดแผลหายอย่างรวดเร็ว)
ourselvesพหูพจน์บุรุษที่หนึ่ง,
เพศชายหรือเพศหญิง
คนกลุ่มหนึ่งที่รวมตัวเราเองWe can defend ourselves for a while.
(เราสามารถป้องกันตัวเองได้ระยะหนึ่ง)
yourselvesพหูพจน์บุรุษที่สอง,
เพศชายหรือเพศหญิง
คนกลุ่มหนึ่งที่ไม่รวมตัวเรา
และเรากำลังพูดด้วย
Don’t put yourselves at risk, ever.
(อย่าเอาตัวเองไปเสี่ยงเป็นอันขาด)
themselvesพหูพจน์บุรุษที่สาม,
เพศชายหรือเพศหญิง
กลุ่มที่ไม่รวมตัวเราเองและ
ไม่ได้ปรากฎอยู่ตรงนั้น
The boys made themselves sandwiches for breakfast. 
(เด็กๆทำแซนด์วิชเองเป็นมื้อเช้า

สังเกตว่าสรรพนามเอกพจน์บุรุษที่สองและพหูพจน์บุรุษที่สองนั้นแตกต่างกันอย่างไร ซึ่งเจอไม่บ่อยนักในภาษาอังกฤษ

อาจจะมีคำถามว่าทำไมเราต้องใช้ “Reflexive pronouns“ เพื่ออ้างถึงประธานในประโยค ทั้งๆ ที่เราใช้ประธานตัวเดิมอีกครั้งก็ได้

คำตอบคือ “Reflexive pronouns“ จะช่วยหลีกเลี่ยงความเข้าใจผิดและเลี่ยงประโยคที่ฟังดูแปลกหรือไม่ถูกหลักไวยากรณ์ได้นั่นเอง

8. Reciprocal Pronouns — สรรพนามที่แสดงความสัมพันธ์ต่อกันและกัน

Reciprocal pronouns” เป็นสรรพนามชนิดพิเศษในภาษาอังกฤษ ซึ่งมีเพียงสองคำเท่านั้น คือ

สรรพนามจำนวนตัวอย่าง
each otherสองคนWe looked at each other in silence.
(เรามองหน้ากันอย่างเงียบๆ)
one anotherมากกว่าสองคนขึ้นไปHe encourages my students to interact with one another in class. 
(เขาสนับสนุนให้นักเรียนมีปฏิสัมพันธ์กันในชั้นเรียน)

เราจะใช้เมื่อมีคนสองคนขึ้นไปมีการกระทำกริยาซึ่งกันและกัน เป็นการกระทำที่ทุกคนในสถานการณ์นั้นกำลังทำหรือถูกกระทำ

เราต้องไม่สับสนระหว่าง “สรรพนามแสดงตนเอง” กับ “สรรพนามที่แสดงความสัมพันธ์ต่อกันและกัน” บางครั้งผู้เรียนอาจจะมองว่าความหมายของประโยคนั้นคล้ายกันมาก ซึ่งอาจจะมองดูว่าคล้ายกัน แต่จริงๆแล้วแตกต่างกัน เช่น

We love ourselves.
(เรารักตัวเอง)

หมายเหตุ : ฉันรักตัวเองและเพื่อนของฉันก็รักตัวเอง แต่เราไม่ได้รักกัน

We love each other.
(เรารักกัน)

หมายเหตุ : ฉันรักเธอและเธอก็รักฉัน แต่เธอกับฉันไม่จำเป็นต้องรักตัวเอง

9. Intensive pronouns — สรรพนามแทนบุคคลแสดงถึงการเน้นย้ำประธาน

Intensive pronouns“ ใช้เพื่อเน้นย้ำหรือให้ความสำคัญกับประธานหรือคำที่มาก่อน

แม้ว่าจะมีลักษณะเหมือนกับ “reflexive pronouns“ แต่วิธีการใช้แตกต่างกัน

ในขณะที่ “reflexive pronouns” ใช้แทนประธานที่แสดงการกระทำต่อตัวเอง แต่ “Intensive pronouns“ ใช้แทนประธานที่ไม่ได้ทำอะไรกับตัวเอง เราใช้แค่เน้นย้ำประธานของประโยคเท่านั้น

I did it myself.
(ฉันทำเอง)

หมายเหตุ : ฉันทำด้วยตัวเอง ไม่มีใครช่วยเลย

She wrote the article herself. Can you believe it?
(เธอเขียนบทความนี้ด้วยตัวเธอเอง คุณเชื่อมั้ย?)

หมายเหตุ : เธอเขียนบทความเองโดยไม่มีใครช่วย

วิธีง่ายๆที่จะดูว่าเป็นสรรพนามประเภทไหน คือลองตัดสรรพนามตัวนั้นออก หากประโยคยังสมเหตุสมผลหรือเป็นไปได้ แสดงว่าเป็น “Intensive pronouns“ แต่ถ้าประโยคฟังดูไม่สมเหตุสมผลหรือเป็นไปไม่ได้ แสดงว่าสรรพนามตัวนั้นคือ “reflexive pronouns”

I cut the paper myself.
(ฉันตัดกระดาษเอง)

หมายเหตุ : “I cut the paper” ยังฟังดูสมเหตุสมผลอยู่ ดังนั้นสรรพนามตัวนี้จึงเป็น “Intensive pronouns“

I cut myself last week.
(ฉันทำมีดบาดตัวเองสัปดาห์ที่แล้ว)

หมายเหตุ : “I cut last week” ฟังดูไม่สมเหตุสมผลเลย ดังนั้นสรรพนามตัวนี้จึงเป็น “reflexive pronoun”

จะเห็นได้ว่า สรรพนามในภาษาอังกฤษนั้นมีความหลากหลายและมีความสำคัญในประโยค เราอาจจะไม่รู้ตัว แต่เราใช้สรรพนามกันอยู่เสมอ เมื่อเราพูดหรือเขียนภาษาอังกฤษ ดังนั้นยิ่งเราเรียนรู้ได้เร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดีเท่านั้น

แบบฝึกหัดภาษาอังกฤษเรื่องคำสรรพนามภาษาอังกฤษ (Pronouns)

อัพเดทล่าสุด: