คำศัพท์สนทนาธุรกิจภาษาญี่ปุ่น Business Japanese ใช้ทำงาน ทำธุรกิจ

ผู้เรียนภาษาญี่ปุ่นกับติวเตอร์คงมีเหตุผลที่เรียนภาษาญี่ปุ่นต่างๆ กัน ขณะที่บางคนอาจต้องการรู้วิธีสนทนาภาษาญี่ปุ่นง่ายๆ ได้ หลายคนก็มีเป้าหมายที่จะใช้ภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาหลักในการทำงานในอนาคตเลยทีเดียว ทำให้มหาวิทยาลัยต่างๆ เปิดสอนหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาญี่ปุ่นธุรกิจ เพื่อให้นักเรียนได้นำภาษาญี่ปุ่นไปใช้ในที่ทำงานได้อย่างถูกต้อง

1. วัฒนธรรมการทำธุรกิจของญี่ปุ่น

ก่อนที่จะกล่าวถึงประโยคเกี่ยวกับการทำงานภาษาญี่ปุ่น เราจะมาพูดถึงพื้นฐานทางวัฒนธรรมในการทำธุรกิจและวิธีการทำงานของชาวญี่ปุ่นกันก่อน

1.1 มารยาททางธุรกิจของชาวญี่ปุ่น

ความสุภาพและความเคารพให้เกียรติซึ่งกันและกันเป็นค่านิยมที่สำคัญมากที่สุดในวัฒนธรรมของชาวญี่ปุ่น และค่านิยมนี้ก็ถูกเน้นย้ำมากขึ้นไปอีกในวงการธุรกิจ

ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนจากพิธีปฏิบัติในการกล่าวคำทักทายและการโค้งคำนับญี่ปุ่นของคนญี่ปุ่น ซึ่งมีอยู่หลายวิธีจำแนกตามระดับความสุภาพและบุคคลที่เรากล่าวคำทักทายด้วย

  • 会釈 (Eshaku) – การทักทายแบบสบายๆกับเพื่อนร่วมงาน / โค้งคำนับด้วยการโค้งลำตัวท่อนบนลงมาประมาณ 15 องศา
  • 敬礼 (Keirei) – การทักทายแบบให้เกียรติและแสดงถึงความเคารพต่อลูกค้า หรือแสดงถึงความขอบคุณอย่างซาบซึ้งใจและการขออภัย / โค้งคำนับด้วยการโค้งลำตัวท่อนบนลงมาประมาณ 30 องศา
  • 最敬礼 (Saikeirei) – การทักทายด้วยความเคารพสูงสุดสำหรับบุคคลสำคัญและการกล่าวขอขมาอย่างสุดซึ้ง / โค้งคำนับด้วยการโค้งลำตัวท่อนบนลงมาประมาณ​ 45 องศา

การแลกนามบัตรกัน ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า 名刺 (Meishi) เป็นอีกหนึ่งพิธีการขั้นพื้นฐานเวลาทำธุรกิจ โดยทั่วไปจะแลกนามบัตรกันเมื่อเราพบกับบุคคลอื่นเป็นครั้งแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากบุคคลนั้นทำงานอยู่บริษัทอื่น นามบัตรถือเป็น “หน้าตา” ของคนญี่ปุ่น ดังนั้นพิธีการนี้จึงต้องปฏิบัติอย่างสุภาพ

การแลกนามบัตรนี้ถือเป็นมารยาททางธุรกิจที่สำคัญที่สุดในญี่ปุ่นเลยทีเดียว

1.2 ภาษาสุภาพเป็นสิ่งจำเป็น

การใช้ภาษาสุภาพที่แสดงถึงการให้เกียรติกันอย่างเหมาะสม สำหรับการทำธุรกิจในประเทศญี่ปุ่นนั้นถือเป็นมารยาทที่ดีที่พึงกระทำ

ในการดำเนินธุรกิจ หากเราไม่สามารถใช้ภาษาสุภาพหรือ 敬語 (Keigo)ได้อย่างเหมาะสม อาจทำให้ถูกมองว่าเป็นคนไร้ความสามารถ

ภาษาสุภาพมีรูปแบบคำพูดที่แสดงถึงความเคารพและให้เกียรติที่แตกต่างกันอยู่สามรูปแบบ ดังนี้

  • 丁寧語 (Teineigo) – ภาษาสุภาพเชิงมารยาท
  • 尊敬語 (Sonkeigo) – ภาษาสุภาพเชิงยกย่อง
  • 謙譲語 (Kenjōgo)– ภาษาสุภาพเชิงถ่อมตัว

การใช้คำกริยานั้นมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับว่าเรากำลังคุยอยู่กับใครและกล่าวถึงการกระทำของใครอยู่

ตัวอย่าง :

ภาษาไทยคำกริยาพื้นฐาน丁寧語 (Teineigo)  ภาษาสุภาพเชิงมารยาท 
แสดงความสุภาพแบบทั่วไป
尊敬語 (Sonkeigo
ภาษาสุภาพเชิงยกย่อ
ใช้พูดกับบุคคลที่มีสถานภาพเหนือกว่าหรือลูกค้า
謙譲語 (Kenjōgoภาษาสุภาพเชิงถ่อมตัว
พูดเกี่ยวกับตัวเองอย่างถ่อมตัว
ทำする
(suru)
します
(shimasu)
なさいます
(nasaimasu)
いたします
(itashimasu)

1.3 คำศัพท์ทางธุรกิจภาษาญี่ปุ่น

ต่อไปนี้คือคำนามภาษาญี่ปุ่นที่ใช้บ่อยในการทำงาน ซึ่งไม่ต้องมีคำนำหน้าคำนามเหมือนกับภาษาอังกฤษ

 ภาษาไทยคันจิ ฮิรางานะโรมาจิ
1บริษัท会社かいしゃkaisha
2กิจการ/องค์กร企業きぎょうkigyō
3สำนักงาน事務所じむしょjimusho
4แผนก/ฝ่าย部署ぶしょbusho
5การประชุม 会議かいぎkaigi
6การสัมภาษณ์面接めんせつmensetsu
7ตำแหน่งงานว่าง求人きゅうじんkyūjin
8เงินเดือน給料きゅうりょうkyūryō
9การทำงานล่วงเวลา残業ざんぎょうzangyō
10งาน (คำนาม)仕事しごとshigoto
11ทำงาน (คำกริยา)働くはたらくhataraku
12รายงาน (คำกริยา)報告するほうこく するhōkoku suru
13เดินทาง (คำกริยา)通勤するつうきん するtsūkin suru
14ประธาน社長しゃちょうshachō
15หัวหน้างาน / เจ้านาย上司じょうしjōshi
16เพื่อนร่วมงาน同僚どうりょうdōryō
17ผู้ใต้บังคับบัญชา部下ぶかbuka
18เอกสาร書類しょるいshorui
19ลูกค้า (ที่มารับบริการ)顧客こきゃくkokyaku
20ลูกค้า (ที่ซื้อสินค้า)お客様おきゃくさまo-kyaku-sama

2. สัมภาษณ์งานในที่ทำงานภาษาญี่ปุ่น

ต่อไปนี้คือตัวอย่างประโยคที่ใช้ในการสัมภาษณ์งานเป็นภาษาญี่ปุ่น รวมถึงการแนะนำตัวภาษาญี่ปุ่นในการสัมภาษณ์งานด้วย

2.1 ชื่อของฉันคือ___

___と申します。
(___ to mōshimasu.)
ชื่อของฉันคือ ___

สิ่งที่เราต้องทำหลังจากเข้าไปในห้องสัมภาษณ์ก็คือ การแนะนำตัวเอง

คำว่า 申します (mōshimasu) เป็นภาษาสุภาพเชิงถ่อมตัวหรือ 謙譲語 (Kenjōgo) ของคำว่า 言う (iu) ซึ่งเป็นคำกริยาที่มีความหมายว่า “พูด” หรือ “บอก” ประโยคนี้หากแปลตามตัวอักษรว่าจะมีความหมายว่า “ฉันเรียกตัวฉันเองว่า____” ในวิธีการแบบถ่อมตัว 謙譲語 (Kenjōgo)

ในทุกสถานการณ์ทางธุรกิจการให้ใช้ 謙譲語 (Kenjōgo) ในการพูดถึงตัวเองจะสร้างความประทับใจให้ผู้สัมภาษณ์รู้สึกว่าเราสุภาพและเหมาะสมกับงาน

2.2 ยินดีที่ได้พบคุณ

どうぞよろしくお願いいたします。
(Dōzo yoroshiku onegai itashimasu.) 
ยินดีที่ได้พบคุณ, ฝากเนื้อฝากตัวด้วยครับ/ค่ะ

การพูดว่า どうぞよろしくお願いいたします。 (Dōzo yoroshiku onegai itashimasu.)  เป็นวิธีการพูดแบบสุภาพของคำว่า

よろしく お願い します
(yoroshiku onegai shimasu)
ขอบคุณ

เป็นสำนวนสุภาพที่ใช้เมื่อรับของขวัญ บริการ คำชมเชย หรือการยอมรับหรือปฏิเสธข้อเสนอใดๆ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในประโยคที่ใช้กันบ่อยที่สุดในภาษาญี่ปุ่น

จริงๆแล้ว ภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และบางครั้งก็ไม่สามารถแปลตรงตัวได้ ประโยคนี้มีประโยชน์ในหลายสถานการณ์ เช่น

  • “ยินดีที่ได้รู้จัก” 
  • “ขอความกรุณาด้วยครับ/ค่ะ” 
  • “ขอแสดงความนับถือ” 
  • “โปรดช่วยชี้แนะด้วยครับ/ค่ะ”

การพูดประโยคนี้แสดงให้เห็นถึงความรู้สึกซาบซึ้งใจและความอ่อนน้อมถ่อมตนของผู้พูด เราจะพูดประโยคนี้หลังจากที่เราบอกชื่อและแนะนำตัวเองไปแล้ว และก่อนที่จะเริ่มสัมภาษณ์จริง

2.3 จุดแข็ง/จุดอ่อนของฉันคือ ____

私の 強み / 弱み は___です。
(Watashi no tsuyomi / yowami wa ___ desu.)
จุดแข็ง/จุดอ่อนของฉันคือ ____

คำว่า 強み (tsuyomi) คือ “จุดแข็ง” และคำว่า 弱み (yowami) ก็คือ “จุดอ่อน”

ตัวอย่าง :

  • 私の強みはチームをまとめるリーダーシップと決断力です。
    (Watashi no tsuyomi wa chīmu o matomeru rīdāshippu to ketsudanryoku desu.)
    จุดแข็งของฉันคือความเป็นผู้นำที่สามารถทำงานร่วมกันเป็นทีมและมีความสามารถในการกล้าตัดสินใจ
  • 私の弱みは時々楽観的になり過ぎることです。
    (Watashi no yowami wa tokidoki rakkanteki ni narisugiru koto desu.)
    จุดอ่อนของฉันคือ บางครั้งฉันเป็นคนมองโลกในแง่ดีจนเกินไป

2.4 ฉันเคยมีประสบการณ์เป็น___

私は___の経験があります。
(Watashi wa ___ no keiken ga arimasu.) 
ฉันเคยมีประสบการณ์เป็น____

คำว่า 経験 (keiken) หมายถึง “ประสบการณ์”

ตัวอย่าง :

  • 私は20人のチームマネージャーの経験があります。
    (Watashi wa 20-nin no chīmu manējā no keiken ga arimasu.)
    ฉันมีประสบการณ์เป็นผู้จัดการทีมที่มีสมาชิก 20 คน

2.5 รบกวนพูดอีกครั้งได้มั้ยครับ (คะ)

もう一度おっしゃっていただけますか。
(Mō ichido osshatte itadakemasu ka.)
รบกวนพูดอีกครั้งได้มั้ยครับ (คะ)

คำว่า おっしゃる (ossharu) เป็นภาษาสุภาพเชิงยกย่อง หรือ 尊敬語 (Sonkeigo) ของคำว่า 言う(iu) ที่แปลว่า “พูด” โดยกล่าวถึงการกระทำของผู้พูดอีกคนด้วยความเคารพ

ประโยคนี้เป็นวิธีในการขอร้องอย่างสุภาพเพื่อให้ใครสักคนพูดซ้ำอีกครั้งในสิ่งที่พวกเขาพูดแล้วเราได้ยินไม่ถนัดหรือฟังครั้งแรกแล้วยังไม่เข้าใจ

เรายังสามารถใช้ประโยคนี้เมื่อเราต้องการเวลามากขึ้นอีกสักหน่อยในการคิดว่าควรจะตอบอย่างไร เราสามารถพูดประโยคนี้ได้เพื่อไม่ให้เกิดความเงียบจนทำให้สถานการณ์ดูน่าอึดอัด

2.6 ขออนุญาตถามอะไรบางอย่างได้มั้ยครับ/คะ

いくつか質問してもいいですか。
(Ikutsu ka shitsumon shite mo ii desu ka.)
ขออนุญาตถามอะไรบางอย่างได้มั้ยครับ/คะ

หากยังมีข้อมูลบางอย่างไม่ชัดเจนระหว่างการสัมภาษณ์ เราสามารถใช้ประโยคนี้เพื่อบอกให้ผู้สัมภาษณ์ทราบว่าเรามีข้อสงสัยอยู่ จริงๆแล้วประโยคนี้มีประโยชน์หลากหลายใช้ได้ในหลายสถานการณ์และสามารถใช้กับใครก็ได้

2.7 ขอบคุณมากครับ/ค่ะ ที่สละเวลาในการสัมภาษณ์ครั้งนี้

面接のお時間をいただき、どうもありがとうございました。
(Mensetsu no o-jikan o itadaki, dōmo arigatō gozaimashita.)
ขอบคุณมากครับ/ค่ะ ที่สละเวลาในการสัมภาษณ์ครั้งนี้

เราจะพูดประโยคนี้พร้อมด้วยรอยยิ้มตอนที่จบการสัมภาษณ์ และต้องไม่ลืมที่จะโค้งคำนับหรือ 敬礼 (Keirei) อย่างสุภาพก่อนที่จะเดินออกจากห้องสัมภาษณ์ด้วย

3. การพูดคุยโต้ตอบกับเพื่อนร่วมงาน

เมื่อพูดคุยกับเพื่อนร่วมงาน เราสามารถใช้ภาษาสุภาพเชิงมารยาทหรือ 丁寧語 (Teineigo) ก็เพียงพอ ตราบใดที่พวกเขายังเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา อายุหรือตำแหน่งงานใกล้เคียงกัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อเราต้องพูดกับผู้บังคับบัญชา หัวหน้า หรือบุคคลที่ต้องให้ความเคารพ เช่น ประธานบริษัท เราควรใช้ภาษาสุภาพเชิงยกย่องหรือ 尊敬語 (Sonkeigo) แทน ซึ่งเป็นภาษาสุภาพที่เหมาะสมกว่า

บางคนใช้ภาษาที่เป็นกันเองพูดคุยกับลูกน้อง แต่แนะนำว่าเราไม่ควรใช้ภาษาเป็นกันเองในที่ทำงานแม้ว่าเราจะสนิทกับเพื่อนร่วมงานของเรามากแค่ไหนก็ตาม

3.1 สวัสดีตอนเช้าครับ/ค่ะ

おはようございます
(Ohayō gozaimasu.)
สวัสดีตอนเช้าครับ/ค่ะ

ประโยคนี้เป็นประโยคแรกที่เราควรพูดทันที่มาถึงที่ทำงาน ซึ่งคนส่วนใหญ่มักมาถึงที่ทำงานในตอนเช้า แต่ที่ทำงานบางแห่งอาจจะเริ่มงานช่วงกลางวัน เราก็ยังสามารถใช้ประโยคนี้เป็นคำทักทายได้ แม้ว่าตอนนั้นจะเป็นช่วงบ่ายหรือเย็นก็ตาม

3.2 ทำงานได้ดีมาก / ลาก่อน

お疲れ様です(でした)
(Otsukare-sama desu/deshita.)
ทำงานได้ดีมาก / ลาก่อน

เป็นอีกประโยคที่ไม่สามารถแปลจากภาษาญี่ปุ่นได้ตรงๆ ซึ่งมักถูกใช้อยู่บ่อยในหมู่เพื่อนร่วมงาน

ประโยคนี้เป็นประโยคสุภาพ หากแปลตรงตัวจะแปลว่า “คุณ (คงจะ) เหนื่อย” แต่สามารถสื่อความหมายอย่างอื่นได้มากมาย เช่น ขอบคุณที่ทำงานอย่างหนัก, ทำได้ดีมาก, แล้วเจอกัน, ลาก่อน ฯลฯ เป็นประโยคที่สามารถใช้ได้สารพัดประโยชน์ เพียงแค่จำไว้ว่า です (desu) เป็นกริยารูปปัจจุบัน ส่วนคำว่า でした (deshita) นั้นเป็นรูปอดีต

ยกตัวอย่างเมื่อเราเดินผ่านเพื่อนร่วมงานคนใดคนหนึ่งในที่ทำงาน เราสามารถใช้ประโยคนี้ทักทายเพื่อแสดงความเอาใจใส่และให้เกียรติพวกเขา และยังสามารถใช้เป็นคำชมเชยว่า “ทำได้ดีมาก” เมื่อมีคนนำเสนอผลงานเสร็จ นอกจากนี้ยังเป็นคำอำลา ที่หมายถึง “ลาก่อน” หรือ “แล้วเจอกัน” หลังเราออกจากที่ทำงานก็ได้

ตัวอย่าง :

  • お疲れ様でした。プレゼンとても良かったです。
    (Otsukare-sama deshita. Purezen totemo yokatta desu.)
    ทำได้ดีมาก การนำเสนอดีมากๆเลย
  • お疲れ様でした。ではまた明日。
    (Otsukare-sama deshita. Dewa mata ashita.)
    แล้วเจอกันพรุ่งนี้นะ

3.3 ขอโทษที่ต้องขอตัวลาไปก่อนนะครับ/ค่ะ

お先に失礼します
(Osaki ni shitsurei shimasu)
ขอโทษที่ต้องขอตัวลาไปก่อนนะครับ/ค่ะ

หากเราแปลตามตัวอักษรประโยคนี้ทีละคำจะได้ว่า

  • お先に (osaki ni) – “ก่อนคุณ”
  • 失礼します (shitsurei shimasu) – ขออนุญาตนะคะ/ครับ

ประโยคนี้สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมการทำงานของชาวญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดี ตามธรรมเนียมญี่ปุ่น เราไม่ควรออกไปก่อนหัวหน้างานหรือทีมของเรา แม้ว่าเราจะทำงานของตัวเองเสร็จแล้วก็ตาม เพราะถือเป็นเรื่องไม่สุภาพและบ่งบอกว่าเราไม่ได้ทำงานหนักเท่ากับคนอื่นๆ

ในปัจจุบัน เราสามารถออกจากที่ทำงานได้โดยไม่ต้องรู้สึกผิด ในขณะที่ยังคงแสดงความสุภาพต่อเพื่อนร่วมงานของเราอยู่ โดยการพูดประโยคดังกล่าว

3.4 ฉันกำลังจะไปแล้วนะ / ดูแลตัวเองนะ

いってきます / いってらっしゃい
(Ittekimasu. / Itterasshai.)
ฉันกำลังจะไปแล้วนะ / ดูแลตัวเองนะ

คำนี้นี้เป็นคำทักทายทั่วไปที่ใช้เมื่อมีคนที่ออกจากที่ทำงานเพื่อไปเยี่ยมลูกค้าหรือออกไปแค่เพียงรับประทานอาหารกลางวัน (และตั้งใจว่าจะกลับมาทีหลัง)

เป็นเรื่องสุภาพที่จะเราควรจะบอกคนอื่นว่า いってきます(ittekimasu) แปลว่า “ไปแล้วนะ” ก่อนที่เราจะออกจากที่ทำงาน ส่วนคนที่ยังคงทำงานอยู่ในออฟฟิศก็ต้องจะตอบกลับไปว่า いってらっしゃい (itterasshai) ซึ่งสื่อความหมายว่า “ไปดีมานะ” ด้วยความสุภาพ

หากเราต้องการที่จะพูดให้สุภาพมากขึ้นอีกนิด เรายังสามารถพูดว่า いってまいります (Ittemairimasu) แปลว่า “ไปแล้วจะกลับมานะ” ซึ่งเป็นภาษาสุภาพเชิงถ่อมตัวหรือ 謙譲語 (Kenjōgo)

ตัวอย่าง :

  • ___へいってきます
    (___ e ittekimasu.)
    ฉันกำลังไป___
  • いってらっしゃい
    (Itterasshai.)
    ดูแลตัวเองนะ

3.5 กลับมาแล้วครับ/ค่ะ

ただいま戻りました / おかえりなさい
(Tadaima modorimashita. / Okaerinasai.)
กลับมาแล้วครับ/ค่ะ, ยินดีต้อนรับการกลับมานะ

เป็นอีกประโยคพูดทางธุรกิจที่สุภาพในภาษาญี่ปุ่น ใช้เมื่อมีใครกลับเข้ามาทำงานในออฟฟิศ

อาจจะฟังดูแปลกไปสักนิดที่เราต้องประกาศให้คนอื่นรู้ว่าเรากำลังจะไปไหนหรือเรากลับมาแล้ว เหตุผลคือวัฒนธรรมการทำงานของญี่ปุ่นที่ให้ค่านิยมกับในการทำงานร่วมกันเป็นทีม จึงมีแนวความคิดที่เรียกว่า 報告・連絡・相談 (Hō-Ren-Sō) หรือ “รายงาน-แจ้ง-ปรึกษา” เพื่อประสิทธิภาพการทำงานที่ดีขึ้น

การที่เราแจ้งให้เพื่อนร่วมงานรู้ว่าเราอยู่ที่ไหน ไม่ว่าเรากำลังจะไปหรือกำลังจะกลับมา มันทำให้การทำงานง่ายขึ้นสำหรับทุกคน เช่น หากมีโทรศัพท์เข้ามาขณะที่เราไม่อยู่หรือมีเหตุฉุกเฉิน เพื่อนร่วมงานก็จะรู้ว่าเราอยู่ที่ไหน

ตัวอย่าง :

  • お昼休憩から戻りました。
    (O-hiru kyūkei kara modorimashita)
    ฉันกลับมาจากพักทานข้าวแล้วนะ
  • おかえりなさい
    (Okaerinasai)
    ยินดีต้อนรับการกลับมานะ

แม้ว่าการพูดคุยกันในที่ทำงานไม่ควรใช้ภาษาเป็นกันเอง แต่เราสามารถแสดงความปรารถนาดีต่อเพื่อนร่วมงานด้วยวิธีอื่นๆ เช่น การส่งคำอวยพรสวัสดีปีใหญ่ภาษาญี่ปุ่นหรือวันเกิด การถามว่าสบายดีไหมภาษาญี่ปุ่น สิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างความสัมพันธ์และบรรยากาศที่ดีในที่ทำงานได้เช่นกัน

4. พูดภาษาญี่ปุ่นในที่ประชุม

คำศัพท์ธุรกิจภาษาอังกฤษมักเน้นไปที่คำศัพท์เฉพาะของวิธีดำเนินการต่างๆ แต่คำศัพท์ธุรกิจภาษาญี่ปุ่นจะเน้นการใช้ระดับภาษาที่สุภาพและเหมาะสมในที่ทำงาน โดยระดับภาษาที่ใช้ในที่ประชุมจะเป็นทางการมากกว่าประโยคภาษาญี่ปุ่นพื้นฐาน สั้นๆ ทั่วไป

ให้ใช้ประโยคภาษาญี่ปุ่นต่อไปนี้สำหรับการประชุมทางธุรกิจเพื่อนำเสนอผลงานระหว่างการสนทนาในที่ประชุม เพื่อให้แสดงให้เพื่อนร่วมงานเห็นว่าเราทำงานได้ดีแค่ไหน

4.1 เรามาเริ่มประชุมกันเลยดีไหม?

会議を始めましょうか。
(Kaigi o hajimemashō ka.)
เรามาเริ่มประชุมกันเลยดีไหม?

4.2 วาระการประชุมของวันนี้คือ___

今日の議題は___です。
(Kyō no gidai wa ___ desu.)
วาระการประชุมของวันนี้คือ___

4.3 คุณ____ เริ่มนำเสนอได้เลยครับ/ค่ะ

___さん、プレゼンをお願いします。
(___-san, purezen o onegai shimasu.)
คุณ____ เริ่มนำเสนอได้เลยครับ/ค่ะ

คำว่า さん (-san) เป็นคำนำหน้าชื่อแบบให้เกียรติในภาษาญี่ปุ่นใช้เรียกผู้อื่นอย่างสุภาพ ซึ่งรวมถึงเพื่อนร่วมงานด้วย สามารถใช้เรียกได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง เป็นคำที่มีความหมายเหมือนกับคำว่า “Mr.” และ “Ms.” ในภาษาอังกฤษ ในอีกทางหนึ่ง หากเราต้องเรียกชื่อลูกค้า เราควรเลือกใช้คำที่สุภาพมากขึ้นอีกอย่างคำว่า (-sama) เป็นต้น

4.4 คุณมีความคิดเห็น/คำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้หรือไม่?

この事案について、何か意見はありますか。
(Kono jian ni tsuite, nani ka iken wa arimasu ka.)
คุณมีความคิดเห็น/คำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้หรือไม่?

เราใช้คำว่า 意見 (iken) หรือ “ความคิดเห็น” และ คำว่า 質問 (shitsumon) ที่แปลว่า “คำถาม” แทนกันได้ เพื่อจะถามว่า “คุณมีคำถามอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้หรือไม่”

หากต้องการพูดให้สุภาพมากขึ้น เช่น เมื่อพูดกับลูกค้า ให้เติมคำอนุภาคแบบสุภาพ (go) ไว้ด้านหน้า 意見 (iken) หรือ 質問 (shitsumon) และเปลี่ยนคำว่า ありますか (arimasu ka) เป็น ございますか (gozaimasu ka) สุดท้ายจะได้ประโยคว่า

何かご質問/ご意見はございますか。
(Nani ka go-iken / go-shitsumon wa gozaimasu ka.)
คุณมีคำถาม/ความคิดเห็นหรือไม่?

4.5 ผม (ฉัน) เห็นด้วยกับความคิดเห็นของคุณ____

私は___さんの意見に賛成です。
(Watashi wa ___-san no iken ni sansei desu.)
ผม (ฉัน) เห็นด้วยกับความคิดเห็นของคุณ____

เราสามารถใช้คำว่า 反対 (hantai) ที่แปลว่า “ไม่เห็นด้วย” แทนที่คำว่า 賛成 (sansei) ที่แปลว่า “ไม่เห็นด้วย” ได้

4.6 กรุณาส่งรายงานก่อนการประชุมครั้งถัดไป

次の会議までに報告書を提出してください。
(Tsugi no kaigi made ni hōkokusho o teishutsu shite kudasai.)
กรุณาส่งรายงานก่อนการประชุมครั้งถัดไป

5. รับมือการคุยโทรศัพท์ทางธุรกิจ

ประโยคต่อไปนี้เป็นประโยคทั่วไปที่ใช้ในการสนทนาทางโทรศัพท์ทางธุรกิจในภาษาญี่ปุ่น

5.1 สวัสดีครับ/ค่ะ ที่นี่คือ____

はい、もしもし、___でございます。
(Hai, moshimoshi, ___ de gozaimasu.)
สวัสดีครับ/ค่ะ ที่นี่คือ____

เป็นประโยคง่ายๆ ใช้พูดเมื่อรับโทรศัพท์ เพื่อบอกชื่อของเราหรือชื่อบริษัทให้คนที่โทรเข้ามาทราบว่าคุยอยู่กับใครหรือกำลังติดต่อกับบริษัทอะไรอยู่

5.2 ขอบคุณที่เป็นพันธมิตรทางธุรกิจที่ดีกับเราเสมอมา

いつもお世話になっております。
(Itsumo o-sewa ni natte orimasu.) 
ขอบคุณที่เป็นพันธมิตรทางธุรกิจที่ดีกับเราเสมอมา

เป็นอีกประโยคในภาษาญี่ปุ่นที่ไม่สามารถแปลตรงตัวออกมาได้ เราใช้ประโยคนี้เป็นคำทักทายทั่วไปเมื่อรับสายลูกค้า ใช้เวลาเขียนอีเมล์ หรือแม้แต่ใช้พูดต่อหน้าลูกค้าเลยก็ตาม

หากแปลตามตัวอักษร ประโยคนี้จะแปลว่า “ฉันได้รับการดูแลเสมอมา” แต่ความหมายโดยนัยที่ซ่อนอยู่ระหว่างบรรทัดเป็นการแสดงความขอบคุณต่อลูกค้าในความกรุณา, การสนับสนุน รวมไปถึงความร่วมมือที่มีให้ ประโยคนี้จึงหมายถึง “ขอบคุณสำหรับความร่วมมือที่ดีเสมอมา” มากกว่า

5.3 คุณ___อยู่มั้ยครับ/คะ

___ さんはいらっしゃいますか。
(___-san wa irasshaimasu ka.)
คุณ___อยู่มั้ยครับ/คะ

คำว่า いらっしゃる (irassharu) เป็น 尊敬語 (Sonkeigo) หรือภาษาสุภาพเชิงยกย่องของคำว่า いる(iru) ซึ่งหมายถึง “อยู่ (ที่นั่น)”

5.4 กรุณารอสักครู่

少々お待ちくださいませ。
(Shōshō o-machi kudasai mase.)
กรุณารอสักครู่

5.5 ___ ขณะนี้ไม่อยู่ที่สำนักงานครับ/ค่ะ

___ はただいま外出しております。
(___ wa tadaima gaishutsu shite orimasu.)
___ ขณะนี้ไม่อยู่ที่สำนักงานครับ/ค่ะ

จำไว้ว่า เราไม่ควรใช้คำนำหน้าชื่อเมื่อพูดถึงเพื่อนร่วมงานเวลาที่คุยโทรศัพท์กับลูกค้า

5.6 ผม (ฉัน) จะบอก___ให้โทรกลับครับ/ค่ะ

___ へ折り返しお電話をさしあげるよう申し伝えます。
(___ e orikaeshi o-denwa o sashiageru yō mōshitsutaemasu.)
ผม (ฉัน) จะบอก___ให้โทรกลับครับ/ค่ะ (พูดด้วยความสุภาพ)

ประโยคนี้เป็นประโยคที่สุภาพและแสดงออกอย่างให้เกียรติมาก คำว่า さしあげる (sashiageru) และคำว่า 申し伝える(mōshitsutaeru) เป็นภาษาสุภาพเชิงถ่อมตัว หรือ 謙譲語 (Kenjōgo) ของคำว่า “ให้” กับ “บอก” ในภาษาญี่ปุ่น

5.7 ขอบคุณสำหรับการติดต่อมาครับ/ค่ะ

お電話いただき、どうもありがとうございました。
(O-denwa itadaki, dōmo arigatō gozaimashita.)
ขอบคุณสำหรับการติดต่อมาครับ/ค่ะ

6. การจัดการอีเมล์ทางธุรกิจ

ต่อไปนี้เป็นประโยคตัวอย่างสำหรับการเขียนอีเมล์ทางธุรกิจ

6.1 เรียนคุณ____

___ 様 / ___ さん
(___-sama / ___-san)
เรียนคุณ____

เราจะใช้คำว่า (-sama) สำหรับลูกค้าและคำว่า さん (-san) สำหรับเพื่อนร่วมงาน

6.2 ขอบพระคุณที่เป็นพันธมิตรทางธุรกิจที่ดีกับเราเสมอมา

平素よりお世話になっております。
(Heiso yori o-sewa ni natte orimasu.)
ขอบพระคุณที่เป็นพันธมิตรทางธุรกิจที่ดีกับเราเสมอมา

คำว่า 平素より (heiso yori) เป็นคำสุภาพมากกว่า ใช้แทนคำว่า いつも (itsumo) ที่แปลว่า “เสมอ” หรือ “โดยปกติ”

6.3 ฉันเขียนอีเมล์ฉบับนี้เกี่ยวกับ___

___の件でメールいたしました。
(___ no ken de mēru itashimashita.)
ฉันเขียนอีเมล์ฉบับนี้เกี่ยวกับ___

คำว่า いたす (itasu) เป็นภาษาสุภาพเชิงถ่อมตัวหรือ 谦譲语 (Kenjōgo) ของคำว่า する (suru) ที่แปลว่า “ทำ” เมื่อเรารวมกับคำว่า メール (Mēru) หรือ “อีเมล์” จึงกลายเป็น メールする ที่แปลว่า “เขียน/ส่งอีเมล์”

6.4 กรุณาตรวจสอบเอกสารที่แนบมา

添付資料をご確認くださいませ。
(Tenpu shiryō o go-kakunin kudasai mase.)
กรุณาตรวจสอบเอกสารที่แนบมา

6.5 หากมีข้อกังวลหรือคำถามใดๆ โปรดแจ้งให้เราทราบ

何かご不明点、ご質問がございましたら、ご遠慮なくお知らせください。
(Nani ka go-fumeiten, go-shitsumon ga gozaimashitara, go-enryo naku o-shirase kudasai.) 
หากมีข้อกังวลหรือคำถามใดๆ กรุณาแจ้งให้เราทราบ

การพูดภาษาญี่ปุ่นให้เหมาะสมในที่ทำงานเป็นเรื่องสำคัญสำหรับคนที่ต้องการทำงานกับบริษัทญี่ปุ่น และควรรู้วิธีเรียกชื่ออาชีพภาษาญี่ปุ่นที่ตนเองสนใจให้ถูกต้องด้วย

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากภาษาญี่ปุ่นเชิงธุรกิจที่กล่าวมาแล้ว เราควรจดจำภาษาญี่ปุ่นพื้นฐานให้แม่นยำด้วย เช่น การบอกวันเดือนปีและวันภาษาญี่ปุ่นภาษาญี่ปุ่น หรือการเขียนที่อยู่ภาษาญี่ปุ่นซึ่งมีรูปแบบเฉพาะตัว สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะช่วยทำให้การทำงานของเราดูเป็นมืออาชีพมากยิ่งขึ้น

แบบฝึกหัดภาษาญี่ปุ่นธุรกิจ

อัพเดทล่าสุด: