อาริกาโตะ ขอบคุณภาษาญี่ปุ่น ありがとう (Arigatou) ใช้คำไหนได้อีก

ในภาษาญี่ปุ่น คำที่ตรงกับคำว่า “ขอบคุณ” มากที่สุด คือ

ありがとう
(Arigatou)
ขอบคุณ

การเรียนภาษาญี่ปุ่นจำเป็นจะต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจวัฒนธรรมของชาวญี่ปุ่นด้วย เนื่องจากภาษาญี่ปุ่นมีความละเอียดซับซ้อน มีระดับความสุภาพของภาษาที่ใช้แตกต่างกัน แม้แต่การกล่าวคำทักทายภาษาญี่ปุ่นก็จะขึ้นอยู่กับสถานการณ์และคนที่เราทักทายด้วย สำหรับผู้ที่เริ่มเรียนหรือชาวต่างชาติที่สนใจ ประโยคภาษาญี่ปุ่นสั้นๆ ในชีวิตประจำวันง่ายๆ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการถามตอบว่าสบายดีไหมภาษาญี่ปุ่น หรือการอวยพรวันที่ดีภาษาญี่ปุ่น ต่างก็จำเป็นต้องเข้าใจบริบทของสังคมและวัฒนธรรมของชาวญี่ปุ่นด้วย และการพูด “ขอบคุณ” ก็เป็นอีกหนึ่งวลีพื้นฐานที่เราจำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวันเช่นกัน

1. ありがとう (Arigatou) — ขอบคุณ

สำหรับคนญี่ปุ่น การขอบคุณโดยใช้คำว่า ありがとう (Arigatou) เฉยๆนั้นฟังดูค่อนข้างเป็นกันเอง กล่าวคือ โดยทั่วไป คนส่วนใหญ่มักใช้คำว่า どうも ありがとう(doumo arigatou) หรือ ありがとう ございます (arigatou gozaimasu) เป็นหลัก เนื่องจากทั้งสองประโยคดังกล่าวฟังแล้วสุภาพมากกว่า นอกจากนี้เด็กญี่ปุ่นก็ใช้คำว่า ありがとう (Arigatou) แบบไม่มีคำต่อท้าย ดังนั้นการพูดขอบคุณลักษณะนี้ อาจจะทำให้เราดูเด็กเกินไปหรือฟังดูไม่สุภาพ ปกติแล้วในภาษาญี่ปุ่นนั้น ยิ่งเราพูดอะไรยาวเท่าไหร่ก็จะยิ่งฟังดูสุภาพและเป็นทางการมากขึ้นเท่านั้น และความสุภาพก็เป็นเรื่องที่ดี ที่พึงกระทำ

คำถามที่พบบ่อย : เมื่อมีคนพูดขอบคุณ ありがとう (arigatou) เราควรตอบกลับว่าอย่างไร

หากเราเรียนภาษาญี่ปุ่น ตามตำราเรียนอาจจะสอนให้เราตอบกลับคำขอบคุณว่า どういたしまし(itashimashite) ซึ่งมีความหมายว่า “ด้วยความยินดี“ อย่างไรก็ตาม เราอาจจะไม่ค่อยได้ยินคำนี้มากนักในบทสนทนาสมัยใหม่ ยกเว้นในสถานการณ์ที่ค่อนข้างเป็นทางการจริงๆ แต่เราจะได้ยินคนตอบว่า いいえ, いいえ (iie, iie) ที่แปลว่า “ไม่ๆ” หรือ “ไม่เป็นไรเลย” แทนมากกว่า

คำ “ขอบคุณ” แบบสุภาพในภาษาญี่ปุ่น

2. ありがとう ございます (Arigatou gozaimasu) — ขอบคุณ (แบบสุภาพ)

ประโยคนี้น่าจะมีประโยชน์และถูกใช้บ่อยมากที่สุดสำหรับการบอก “ขอบคุณ” ในภาษาญี่ปุ่น มันฟังดูสุภาพมากกว่าการพูดว่า ありがとう (arigatou) เฉยๆ อีกทั้งยังเหมาะสมเมื่อใช้ในที่ทำงาน เหมาะสำหรับการพูดกับคนแปลกหน้าหรือเพื่อนใหม่ และเหมาะที่จะพูดกับคนที่ช่วยเหลือเราจริงๆ ส่วนการพูดว่า ありがとう (arigatou) เดี่ยวๆ โดยไม่มีคำต่อท้ายนั้น มักใช้พูดแบบเป็นกันเองกับเจ้าของร้านหรือพนักขายของ เช่น เวลาไปสั่งอาหารเป็นภาษาญี่ปุ่น ซึ่งบางครั้งก็อาจจะฟังดูห้วนไปสักหน่อย แต่สำหรับชาวต่างชาติแล้ว ถึงแม้จะพูดขอบคุณสั้นๆ ก็สร้างความประทับใจได้ไม่น้อย

3. どうも ありがとう (Doumo arigatou) — ขอบคุณมาก

คำนี้จะขยับความสุภาพมากขึ้นกว่าคำว่า ありがとう (arigatou) แบบไม่มีคำต่อท้ายเล็กน้อย แต่ยังคงมีความเป็นกันเองและฟังดูเป็นมิตรมากกว่าคำว่า ありがとう ございます (Arigatou gozaimasu) เป็นประโยคที่เหมาะสำหรับการใช้พูดกับเพื่อนฝูง, ครอบครัวหรือคนที่อายุน้อยกว่าเพื่อแสดงความขอบคุณ ลำพังคำว่า どうも (Doumo) เพียงอย่างเดียวนั้นก็สามารถใช้ในสถานการณ์สบายๆ ได้ด้วย แต่เราจะมาพูดเรื่องนี้อีกครั้งภายหลัง

4. どうも ありがとう ございます (Doumo arigatou gozaimasu) — ขอบคุณมาก (แบบสุภาพเป็นพิเศษ)

คำนี้ถือว่าเป็นที่สุดของการพูดว่า “ขอบคุณมาก“ ในภาษาญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นมักจะรู้สึกชื่นชมกับความสุภาพเล็กๆน้อยๆที่เติมเข้ามาเป็นพิเศษในคำพูดตรงนั้นตรงนี้ ดังนั้นถ้าเราอยากสร้างความประทับใจให้ใครสักคนที่เรารู้สึกขอบคุณจริงๆ เราควรใช้คำว่า どうも ありがとう ございます (Doumo arigatou gozaimasu) ซึ่งอาจจะพูดพร้อมกับแสดงวิธีโค้งคำนับแบบญี่ปุ่นไปด้วยกัน

คำถามที่พบบ่อย : เราควรพูดว่า ありがとう (arigatou) หรือ  ございます (gozaimasu) ?

เราควรพูดทั้งสองคำนี้ไปด้วยกันเป็น ありがとう ございます (Arigatou gozaimasu) คำว่า ありがとう (arigatou) เดี่ยวๆนั้น เป็นคำ “ขอบคุณ” แบบเป็นกันเอง ในขณะที่คำว่า ございます (gozaimasu) นั้นเป็นเหมือนการเติมคำว่า “มากๆ” ลงไป เราไม่สามารถพูดคำว่า ございます (gozaimasu) เฉยๆ ได้ เพราะมันไม่มีความหมายอะไร กล่าวโดยสรุปคือ คำว่า ありがとう (arigatou) นั้นมักใช้พูดขอบคุณแบบเร็วๆ ในสถานการณ์ที่เป็นกันเอง ส่วนคำว่า ありがとう ございます (Arigatou gozaimasu) เป็นวิธีที่ดีที่จะแสดงความขอบคุณอย่างสุภาพ

5. 本当に ありがとう ございます (Hontoni arigatou gozaimasu) — ขอบคุณมากจริงๆ

การเติมคำว่า 本当に (hontoni) เพิ่มข้างหน้าคำว่า ありがとう ございます (arigatou gozaimasu) ก็เหมือนกับการเติมคำว่า “จริงๆ” หรือ “จากใจจริง“ เข้าไป เป็นเพียงการเน้นย้ำขึ้นมาอีกหน่อย อาจจะไม่ค่อยได้ยินคำนี้กันบ่อยมากนัก แต่ถ้าเราผสมคำว่า 本当に (hontoni) ลงไปในคำขอบคุณ มันจะช่วยสร้างความน่าสนใจ อีกทั้งยังฟังดูสุภาพและเน้นว่าเรารู้สึกขอบคุณจริงๆ

6. ありがとう ございました (Arigatou gozaimashita) — ขอบคุณ (รูปอดีต)

วิธีนี้เหมือนกับคำว่า ありがとう ございます (arigatou gozaimasu) เพียงแต่เราจะใช้กับสิ่งที่ทำเสร็จลงไปเรียบร้อยแล้วเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น เราจะใช้คำนี้ได้หลังงานเลี้ยงอาหารมื้อค่ำหรือหลังงานบริการแล้วเสร็จ (เช่น หากเรารู้สึกขอบคุณช่างตัดผมที่ตัดผมให้เราอย่างสวยงาม แล้วเราต้องการขอบคุณหลังจากตัดผมเสร็จ) นอกจากนี้ยังสามารถใช้เมื่อมีคนทำอะไรบางอย่างให้เราหรือช่วยเหลือเรา สิ่งสำคัญคือ สิ่งที่เราต้องการขอบคุณนั้นได้ทำเสร็จหรือจบลงแล้ว

7. 拝謝申し上げます (Haisha moushiagemasu) — ขอบคุณมาก (แบบถ่อมตัว)

นี่เป็นอีกวิธีหนึ่งที่สุภาพและฟังดูนอบน้อมถ่อมตน สำหรับใช้พูดกับคนที่มีสถานะทางสังคมสูงกว่าเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนที่มีอายุมากกว่า เช่น ผู้สูงอายุหรือพ่อแม่ของเรา ประโยคนี้แฝงนัยยะที่ทำให้ตัวเองดูต่ำกว่าคนที่เราต้องการจะขอบคุณ

คำ “ขอบคุณ” เชิงธุรกิจ

วัฒนธรรมในการทำงานของชาวญี่ปุ่นนั้นให้ความสำคัญกับความสุภาพและการให้เกียรติซึ่งกันและกันมากที่สุด ดังนั้นบทสนทนาทางธุรกิจภาษาญี่ปุ่นในที่ทำงาน จึงแตกต่างจากภาษาที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่เว้นแม้แต่คำขอบคุณ

8. すみません (Sumimasen) — ขอโทษด้วยครับ (ค่ะ)

เมื่อเราต้องการขอบคุณในรูปแบบที่เป็นทางการมากขึ้น สำหรับภาษาญี่ปุ่น เราจะพบว่าในหลายๆประโยคจะมีคำขอโทษเข้าไปด้วย ซึ่งเป็นวิธีการแสดงความขอบคุณต่อบุคคลที่อุทิศเวลา, มีความเอาใจใส่, ขยันหรือตั้งใจทำงาน ดังนั้นคำว่า すみません (Sumimasen) จึงเป็นคำสุภาพและอ่อนน้อม ซึ่งใช้เป็นมาตรฐานในการพูดอย่างเป็นทางการและการพูดเชิงธุรกิจในภาษาญี่ปุ่น

ในกรณีของคำว่า すみません (Sumimasen) นั้นโดยปกติจะแปลว่า “ขอโทษ“ แต่เราก็สามารถใช้เป็นอีกหนึ่งวิธีในการพูด ”ขอบคุณ“ ได้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากต้องการพูด ”ขอบคุณ“ ให้ยาวขึ้นหรือต้องการพูดในที่ทำงาน คำนี้มีความหมายประมาณว่า ”ขอบคุณสำหรับสิ่งที่ทำและขออภัยในความไม่สะดวก“ ซึ่งไม่ตรงกับความหมายที่แท้จริงเสียทีเดียว หากเราแปลตามตัวอักษรตัวต่อตัว นั่นเป็นเพราะว่าภาษาญี่ปุ่นนั้นจะแฝงด้วยนัยยะต่างๆมากมาย คนญี่ปุ่นมักจะพูดอ้อมค้อมและต้องใช้บริบทแวดล้อมอื่นๆ ในการตีความความหมายที่แท้จริงมากกว่าการจะพูดอะไรออกมาตรงๆ (ซึ่งเราจะเห็นสถานการณ์ลักษณะนี้ในวิธีการบอกรักเป็นภาษาญี่ปุ่นด้วย)

กล่าวโดยสรุปคือคำว่า すみません (Sumimasen) นั้นหมายถึง “ขอโทษ“, ”ขออภัย“ และ ”ขอบคุณ“ ในคำเดียวกันนั่นเอง

9. 恐れ入ります(Osoreirimasu) — ขออภัยอย่างสุดซึ้ง

นี่เป็นการขยายคำขอบคุณให้ฟังดูจริงจังยิ่งใหญ่และเป็นทางการมากขึ้นกว่าคำว่า すみません (Sumimasen) มากๆ และถือเป็นคำที่เป็นทางการมากที่สุดหากเราต้องการจะพูดว่า “ฉันขอโทษและขอบคุณ” เรามักจะใช้เมื่อขอบคุณหัวหน้างานหรือลูกค้าในที่ทำงาน โดยทั่วไปแล้วมันสื่อความหมายว่าเราต้องการขอบคุณจากก้นบึ้งของหัวใจด้วยการขออภัยอย่างสุดซึ้งที่พวกเขาอาจจะได้รับความไม่สะดวกอย่างมากจากการทำอะไรบางอย่างให้กับเรา และมันยังใช้แสดงความเสียใจและแสดงออกถึงความเคารพยำเกรงต่อบุคคลที่ต้องการขอบคุณในระดับหนึ่งด้วย

10. おつかれさまです (Otsukare sama desu) — ขอบคุณที่มุมานะทำงานจนเหน็ดเหนื่อย

ประโยคนี้ถือว่าเป็นประโยคอเนกประสงค์ที่ใช้กันบ่อยที่สุดในที่ทำงาน มีความหมายประมาณว่า “เก่งมาก” หรือ “คุณทำงานหนัก” แต่เรามักใช้เป็นคำทักทายเพื่อนร่วมงาน เช่นเดียวกับการใช้เป็นประโยคแสดงความยินดีหรือคำขอบคุณในภาษาญี่ปุ่นด้วย ยกตัวอย่างเช่น เราสามารถพูดประโยคนี้ได้ หากมีคนที่ทำงานได้ดีเวลาที่มีการนำเสนอผลงานที่ทำร่วมกันกับเรา หรือพูดขอบคุณพวกเขาที่ส่งอีเมล์มาถึง เป็นต้น

มารยาทบนโต๊ะอาหารของญี่ปุ่น

มีอยู่สองประโยคที่สำคัญมากในวัฒนธรรมของญี่ปุ่น ได้แก่ 頂きます (itadakimasu) และ ごちそうさまでした (gochisousama) ซึ่งมีความหมายแตกต่างกัน แต่ทั้งสองประโยคนั้นคือวิธีการกล่าวขอบคุณในภาษาญี่ปุ่นและถือเป็นมารยาทที่ดีในการพูดเหมือนกัน

11.頂きます(Itadakimasu) — ขอบคุณสำหรับอาหารมื้อนี้

การพูด “ขอบคุณสำหรับอาหารมื้อนี้” ในภาษาญี่ปุ่น จริงๆแล้วมีความหมายที่มากกว่าการขอบคุณธรรมดาทั่วไป เพราะมันเป็นการตระหนักถึงห่วงโซ่อาหารทั้งหมดไปจนถึงผู้คนที่มีส่วนในการทำให้อาหารปรากฎอยู่ในจานของเรา เราจะพูดประโยคนี้ทันทีที่เราเริ่มรับประทานอาหาร และมักจะก้มศีรษะลงเล็กน้อยพร้อมกับประสานมือเพื่อแสดงความขอบคุณอย่างสุภาพต่อทุกสิ่งที่เข้ามาอยู่ในมื้ออาหารของเรา เราจะนึกถึงพนักงานเสิร์ฟ พ่อครัว คนขายปลาหรือแม้กระทั่งตัวปลาที่เรารับประทานเอง การกล่าวขอบคุณนี้ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องศาสนาแต่อย่างใดแต่เป็นสิ่งที่คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่พูดก่อนมื้ออาหารทุกมื้อ

12.ごちそうさまでした(Gochisousama deshita) — ขอบคุณสำหรับอาหารมื้อนี้, ขอบคุณที่เลี้ยงอาหาร

ประโยคนี้เป็นอีกวิธีหนึ่งในการกล่าวขอบคุณมื้ออาหาร ごちそうさまでした(Gochisousama deshita) มักจะมาคู่กับคำว่า 頂きます(Itadakimasu) แต่เราจะพูดหลังจากมื้ออาหารและมักเป็นการสื่อความหมายถึงพ่อครัวและพนักงานเสิร์ฟโดยตรง โดยทั่วไปแล้วเรากำลังบอกว่าเราซาบซึ้งกับมันจริงๆ ที่ทำอาหารให้เราอย่างเพียงพอ และยังสามารถใช้ขอบคุณคนที่เลี้ยงอาหารเราได้ด้วย แต่ต้องระมัดระวังการใช้ประโยคนี้ การบอกใครสักคนก่อนที่พวกเขาจะจ่ายเงินค่าอาหาร หรือเสนอตัวที่จะเลี้ยงอาหาร อาจจะฟังดูเหมือนไม่เกรงใจและเอาแต่ได้ ราวกับว่าเราคาดหวังที่จะให้พวกเขาออกค่าอาหารให้นั่นเอง

หากเราเรียนรู้คำคุณศัพท์ภาษาญี่ปุ่นที่ใช้ในการบรรยายหรืออธิบายรสชาติของอาหาร เช่น คำว่า ”อร่อย“ เราก็สามารถเติมลงไปในคำขอบคุณได้ ยกตัวอย่างเช่น おいしい食事をありがとう(Oishī shokuji o arigatō) ซึ่งแปลว่า ขอบคุณสำหรับอาหารมื้ออร่อย เป็นต้น สิ่งเล็กๆน้อยๆเหล่านี้ก็สามารถสร้างความประทับใจได้เช่นกัน

ขอบคุณแบบเป็นกันเองในภาษาญี่ปุ่น

13. どうも (Doumo) — ขอบใจ

คำว่า どうも (Doumo) เป็นคำขอบคุณง่ายๆ ใช้ในสถานการณ์ที่สบายๆ เป็นกันเอง ย่อมาจาก どうも ありがとう (doumo arigatou) นับเป็นคำพูดยอดนิยมที่ถูกใช้บ่อยๆ สำหรับการพูดขอบคุณเพื่อนหรือเพื่อนสนิท แต่อาจจะดูเป็นกันเองไปสำหรับพูดในที่ทำงาน เราจะได้ยินคำนี้ในหมู่คนหนุ่มสาว รวมถึงในร้านกาแฟ ผับบาร์หรือร้านค้าต่างๆ ที่บรรยากาศไม่เป็นทางการ ในทางตรงกันข้าม เราควรจะเลือกใช้คำอื่นที่สุภาพมากกว่านี้ หากอยู่ในร้านอาหารหรูหรืออยู่ในที่ทำงาน

14. サンキュー(Sankyu) – ขอบคุณ, แต๊งกิ้ว (ทับศัพท์ภาษาอังกฤษ)

นี่เป็นประโยคแสลงและเป็นคำเท่ๆ ในการบอกขอบคุณที่ใช้ในหมู่วัยรุ่น โดยเฉพาะสำหรับชายหนุ่ม ในฐานะผู้พูดภาษาอังกฤษ เราควรรู้จักคำนี้หรือท่องจำคำอื่นๆ ไว้บ้าง เผื่อบังเอิญเราอาจจะได้ใช้มัน

เรื่องน่ารู้ : คำว่า サンキュー( Sankyu) นั้นไปพ้องเสียงกับคำว่า san kyuu ที่หมายถึงเลข 39 โดย さん (San) คือ 3 ส่วน きゅう (kyuu) คือ 9 ดังนั้นบางคนอาจจะพิมพ์คำว่า サンキュー( Sankyu) สั้นๆว่า “39” นั่นเอง

15. あざす (Azasu) — ขอบคุณ

ความหมายของคำนี้ตรงกับคำว่า Thanks! หรือ Cheers! ในภาษาอังกฤษ แต่เป็นคำว่า Cheers ที่ใช้ในความหมายของการขอบคุณ ไม่ใช่สำหรับการพูดเวลาชนแก้วขณะดื่ม

คำนี้ถือเป็นคำขอบคุณสั้นๆ ที่โดยมากมักใช้ในหมู่เด็กนักเรียน, ในการ์ตูนอะนิเมะและหมู่วัยรุ่นที่ออกไปเที่ยวกับเพื่อนๆ เป็นแสลงที่จะใช้พูดขอบคุณแบบเร็วๆ แต่ไม่ควรใช้กับคนแปลกหน้าหรือที่ใดก็ตามเพราะอาจจะทำให้ใครไม่พอใครในความไม่สุภาพของเรา และไม่ควรใช้คำนี้ในที่ทำงานหรือไม่ควรใช้กับผู้อาวุโสด้วย

อัพเดทล่าสุด: