15 วิธีแนะนำตัวภาษาญี่ปุ่น แนะนําตัวสัมภาษณ์งาน หรือกับเพื่อนใหม่
เมื่อคุณเรียนภาษาญี่ปุ่นและเริ่มมีเพื่อนคนญี่ปุ่น หรือไปเที่ยวญี่ปุ่นไม่ว่าจะไปเพื่อท่องเที่ยว ไปเรียน หรือทำธุรกิจก็ตาม บ่อยครั้งที่คุณจำเป็นต้องแนะนำตัวเองใช่ไหมคะ การแนะนำตัวเองเป็นสิ่งสำคัญเสมอในการเริ่มต้นความสัมพันธ์ที่ดีกับใครสักคน เช่น เพื่อน เพื่อนร่วมงาน นักเรียน เพื่อนร่วมงาน เพื่อนบ้าน เป็นต้น นอกจากนี้การแนะนำตัวยังสำคัญมากในการสัมภาษณ์งานภาษาญี่ปุ่นอีกด้วยนะคะ
1. ยินดีที่ได้พบคุณ ภาษาญี่ปุ่น
- はじめまして。
(Hajimemashite.)
ยินดีที่ได้พบคุณ
ก่อนที่จะแนะนำตัวเอง สิ่งแรกที่ต้องทำเมื่อพบปะกับผู้อื่น คือ การกล่าวคำทักทายค่ะ สำนวนดังกล่าวเป็นคำทักทายตามธรรมเนียมปฏิบัติทั่วไปและสามารถใช้ได้ทุกโอกาส แต่ในโอกาสที่เป็นทางการ ยังมีวิธีพูด “ยินดีที่ได้รู้จัก” อีกหนึ่งวิธีที่ใช้พูดเพื่อแสดงความเคารพและสุภาพมากขึ้น
お会いできて光栄です。
(O-ai dekite kōei desu.)
เป็นเกียรติที่ได้พบคุณ
สำนวนนี้สามารถใช้แนะนำตัวเองเป็นภาษาญี่ปุ่นในอีเมล์ได้อีกด้วย
ตัวอย่าง :
はじめまして。 私はあきこです。
(Hajimemashite. Watashi wa Akiko desu.)
ยินดีที่ได้พบคุณ ฉันชื่ออากิโกะค่ะ
2. ฉันชื่อว่า… ภาษาญี่ปุ่น
- 私は…です。
(Watashi wa…Desu.)
ฉันคือ…
เป็นสำนวนที่ใช้บ่อยที่สุดในการบอกชื่อของเราเองกับผู้อื่น
私 (Watashi) = ฉัน
は (wa) = เป็น / อยู่ / คือ
です (desu) = เป็นภาคแสดงในภาษาญี่ปุ่นเพื่อบอกเล่าการกระทำ อาการ หรือการมีอยู่ ที่เราเรียกว่า 述語 (Jutsugo) และเป็นวิธีการพูดแบบสุภาพเมื่อใช้คำนี้ต่อท้ายประโยค
- 私は…と言いいます。
(Watashi wa… To ii imasu.)
ฉันถูกเรียกว่า…
สำนวนนี้เป็นอีกวิธีในการบอกชื่อของตัวเองเป็นภาษาญี่ปุ่น ส่วนความหมายตามตัวอักษรของประโยคนี้คือ “ฉันถูกเรียกว่าเป็น…”
いいます (iimasu) = เป็นรูปกริยาที่ผันมาจาก 言う (iu ) ซึ่งแปลว่า “พูด”
と (To) = เป็นคำอนุภาคเพื่อแสดงความสัมพันธ์ของคำนามหรือคำสรรพนามกับคำอื่นๆในประโยค ซึ่งในกรณีนี้มีความหมายว่า “ตามที่/ดังที่”
ประโยคดังกล่าวฟังดูค่อนข้างสุภาพนะคะ แต่เรายังทำให้มันฟังดูสุภาพมากขึ้นไปอีกในโอกาสที่เป็นทางการมากๆ เราสามารถใช้คำว่า 申します (mōshimasu) แทนคำว่า いいます (iimasu) ได้เลยค่ะ ซึ่งคำนี้เนี่ยเป็นคำที่แสดงความให้เกียรติผู้ฟังที่เรียกว่า “คำยกย่อง” หรือ Keigo 敬語 มีความหมายว่า “พูด” ในภาษาญี่ปุ่นเช่นกันค่ะ
- 私の名前は…です。
(Watashi no namae wa…Desu.)
ชื่อของฉันคือ…
หากคุณอยากถามชื่อ ก็ใช้ประโยคต่อไปนี้ได้เลยค่ะ
おなまえは?
(o namae wa?)
“คุณชื่ออะไร?”
หากคุณมีชื่อเล่นหรือ あだ名 (adana) ซึ่งไม่เหมือนกับชื่อจริง ซึ่งคนไทยเราจะมีการตั้งชื่อแบบนี้ คือชื่อจริงยาวๆ และชื่อเล่นสั้นๆ ที่ไม่เหมือนกับชื่อจริงเลย เราสามารถพูดประโยคนี้ต่อหลังจากการแนะนำตัวด้วยชื่อจริงได้ค่ะ
- ...と呼んでください。
(…to yonde kudasai.)
โปรดเรียกฉันว่า…
呼んで (yonde) = เป็นรูปกริยาที่ผันมาจากคำว่า 呼ぶ (yobu) ซึ่งมีความหมายว่า “เรียก”
ください (kudasai) = เป็นภาคแสดงในภาษาญี่ปุ่นที่เราเรียกว่า 述語 (Jutsugo) และเป็นวิธีพูดแบบสุภาพซึ่งในกรณีนี้มีความหมายว่า “โปรด (เรียกฉัน)”
3. ฝากเนื้อฝากตัวด้วยค่ะ (ครับ) ภาษาญี่ปุ่น
- よろしくお願いします。
(Yoroshiku onegai shimasu.)
ฝากเนื้อฝากตัวด้วยค่ะ (ครับ)
หลังจากที่แนะนำตัวเองเสร็จแล้วเนี่ยนะคะ เราสามารถใช้สำนวนนี้พูดปิดท้ายได้เลย จริงๆ แล้วประโยคนี้มีหลายความหมาย แต่ในกรณีนี้มีความหมายตามตัวอักษรว่า “โปรดดูแลฉันให้ดี” หรือ “กรุณาใจดีกับฉันด้วย” ซึ่งเป็นประโยคน่ารักๆ ที่อาจจะฟังดูแปลกสำหรับคนไทยไปหน่อยนะคะ แต่เป็นส่วนสำคัญในการทักทายเป็นภาษาญี่ปุ่นเพื่อแสดงความอ่อนน้อมและความรู้สึกขอบคุณ โดยเฉพาะหากคาดหวังที่จะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับบุคคลนั้นค่ะ สำหรับภาษาไทยสำนวนนี้จะมีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า “ฝากเนื้อฝากตัวด้วยค่ะ (ครับ)” ในสถานการณ์ที่ไม่เป็นทางการ เราอาจจะพูดสั้นๆว่า よろしく (Yoroshiku) ก็ได้ค่ะ
ตัวอย่าง :
今日からここで働きますユミです。 よろしくお願いします。
(Kyō kara koko de hatarakimasu Yumi desu. Yoroshiku onegai shimasu.)
ฉันชื่อยูมิและวันนี้ฉันเริ่มมาทำงานที่นี่ ฝากเนื้อฝากตัวด้วยค่ะ
เมื่อกล่าวทักทายและแนะนำตัวเองเป็นครั้งแรก โดยส่วนมากเราควรจะโค้งคำนับและจับมือตามธรรมเนียมด้วยค่ะ การแนะนำตัวในการสมัครงาน หรือสถานที่ทำงานใหม่ แนะนำให้แนะนำตัวโดยใช้ภาษาที่สถานที่ทำงานนั้นๆ ใช้กันนะคะ เช่น บริษัทต่างชาติที่ใช้ภาษาอังกฤษ เราก็ควรแนะนำตัวเองภาษาอังกฤษ หรือบริษัทสัญชาติจีนที่พนักงานเป็นคนจีนเราก็ควรจะแนะนำตัวเองภาษาจีนค่ะ จะช่วยสร้างความประทับใจให้เพื่อนร่วมงานได้มากเลยทีเดียว
4. ฉันอายุ…ปี ภาษาญี่ปุ่น
- 私は…歳です。
(Watashi wa …-sai desu.)
ฉันอายุ…ปี
歳 (sai) คือ “ปี/ขวบ” เราสามารถใช้เลขในภาษาญี่ปุ่นตัวใดก็ได้เพื่อบอกว่าอายุ “xx ปี” ยกเว้นเลขยี่สิบ
“ยี่สิบ” คือ 二十 (ni-jū) เป็นตัวเลขภาษาญี่ปุ่น แต่เราจะอ่านว่า はたち (hatachi) เฉพาะเมื่อพูดถึงอายุเท่านั้น
ตัวอย่าง :
- 私は今年…歳になります。
(Watashi wa kotoshi …-sai ni narimasu.)
ฉันจะอายุครบ….ปีในปีนี้
今年 (kotoshi) คือ “ปีนี้”
に (ni) เป็นคำอนุภาคในภาษาญี่ปุ่นซึ่งโดยปกติใช้ระบุจุดหมายปลายทางหรือทิศทาง ในกรณีนี้ใช้เพื่อบ่งบอกผลลัพธ์ของการเปลี่ยนแปลง
なります (narimasu) เป็นรูปกริยาที่ผันมาจากคำว่า なる (naru) ที่มีความหมายว่า “กลายเป็น”
ดูเพิ่มเติม สอนนับตัวเลขภาษาญี่ปุ่น ตัวเลขคันจิ พร้อมคำอ่าน ฮิรางานะ โรมันจิ
5. ฉันเกิดในปี… ภาษาญี่ปุ่น
- 私は…年生まれです。
(Watashi wa …-nen umare desu.)
ฉันเกิดในปี…
เป็นประโยคบอกอายุของตัวเองโดยการแจ้งปีที่ตัวเองเกิดนะคะ และใช้ตอบคำถามว่าเราเกิดเมื่อไหร่ในสถานการณ์ต่างๆ เช่น การยืนยันอายุตามกฎหมายเวลาไปซื้อบุหรี่หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (สำหรับประเทศญี่ปุ่น อายุที่กฎหมายกำหนดให้ซื้อได้คือ 20 ปีขึ้นไป)
年 (nen) คือ “ปี”
生まれ (umare) เป็นคำนามแปลว่า “การเกิด”
การบอก “ปี” ในภาษาญี่ปุ่นจะพูดเป็นจำนวนเต็ม
ยกตัวอย่างเช่น ปี “1990” ในภาษาญี่ปุ่นจะอ่านว่า “หนึ่งพันเก้าร้อยเก้าสิบ” หรือภาษาญี่ปุ่นคือ 千九百九十 (sen kyū-hyaku kyū-jū)
ดูเพิ่มเติม วันทั้ง 7 วันในสัปดาห์ภาษาญี่ปุ่น วิธีเรียงวันเดือนปีภาษาญี่ปุ่น เพื่อบอกวันเกิดของคุณเป็นภาษาญี่ปุ่นค่ะ
6. ฉันมาจาก… ภาษาญี่ปุ่น
- 私は…出身です。
(Watashi wa…shusshin desu.)
ฉันมาจาก…
เพราะคนไทยเราเองก็นับเป็นชาวต่างชาติในประเทศญี่ปุ่น ดังนั้นคุณควรจะบอกชื่อประเทศของคุณด้วย คำว่า 出身 (shusshin) เป็นคำนามที่หมายความว่า “มาจาก” หรือ “สถานที่ที่เป็นแหล่งกำเนิด” ค่ะ
- 私は…人です。
(Watashi wa …-jin desu.)
ฉันเป็น…
คุณสามารถบอกสัญชาติหรือเชื้อชาติของตัวเองแทนการบอกชื่อประเทศก็ได้ค่ะ หากตำแหน่งของคำว่า 人 (jin) อยู่ติดกับชื่อประเทศ สำหรับภาษาญี่ปุ่นจะหมายถึง “สัญชาติ”
- 私は…に住んでいます。
(Watashi wa…ni sunde imasu.)
ฉันอาศัยอยู่ที่…
เรายังสามารถบอกได้อีกว่าตอนนี้เราพักอาศัยอยู่ที่ไหน คำว่า 住んでいます (Sunde imasu) เป็นรูปกริยาที่ผันมาจากคำว่า 住む (sumu) ซึ่งหมายถึง “ฉันกำลังพักอาศัยอยู่”
ดูเพิ่มเติม ที่อยู่ภาษาญี่ปุ่น วิธีอ่านที่อยู่ และเขียนที่อยู่ไปรษณีย์ภาษาญี่ปุ่น
7. ฉันไปที่มหาวิทยาลัย… ภาษาญี่ปุ่น
- 私は…大学に通っています。
(Watashi wa…Daigaku ni kayotte imasu.)
ฉันไปที่มหาวิทยาลัย… / ฉันเรียนที่มหาวิทยาลัย…
大学 (daigaku) คือ “มหาวิทยาลัย”
通っています (kayotte imasu) เป็นรูปกริยาที่ผันมาจากคำว่า 通う (kayō) ซึ่งหมายถึง “(ฉัน)กำลังไป” เราใช้คำนี้เมื่อเราพูดถึงสถานที่ที่เราไปอย่างต่อเนื่องและซ้ำๆเป็นประจำ
คำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียน :
– 大学 (Daigaku) — มหาวิทยาลัย
– 短期大学 (Tanki daigaku) — วิทยาลัยระดับอนุปริญญา
– 専門学校 (Senmon gakkō) — โรงเรียนอาชีวศึกษา / โรงเรียนเทคนิค
– 高校 (Kōkō) — มัธยมศึกษาตอนปลาย
– 中学校 (Chūgakkō) — มัธยมศึกษาตอนต้น
– 小学校 (Shōgakkō) — ประถมศึกษา
ตัวอย่าง :
私はラムカムヘン大学に通っています。
(Watashi wa Ramukamuhen Daigaku ni kayotte imasu.)
ฉันไปที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง / ฉันเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง
8. ฉันกำลังเรียนวิชา… ภาษาญี่ปุ่น
- 私は…学を学んでいます。
(Watashi wa …gaku o manande imasu.)
ฉันกำลังเรียนวิชา…
学 (gaku) หมายถึง วิชา / สาขาวิชา
คำศัพท์ที่เกี่ยวกับวิชาเรียน :
– 経済 (keizai) — เศรษฐศาสตร์
– 経営 (Keiei) — การจัดการธุรกิจ
– 法律 (Hōritsu) — นิติศาสตร์
– 生物 (Seibutsu) — ชีววิทยา
– 国際関係 (Kokusai kankei) — ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
– 情報技術 (Jōhō gijutsu) — เทคโนโลยีสารสนเทศ
– 金融 (Kinyū) — การเงิน
– 芸術 (Geijutsu) — ศิลปะ
– 心理学 (Shinrigaku) — จิตวิทยา
9. ฉันมีอาชีพเป็น… ภาษาญี่ปุ่น
- 私は…です。
(Watashi wa…desu.)
ฉันเป็น…
ใส่คำศัพท์ที่เกี่ยวกับอาชีพลงในช่องว่าง
คำศัพท์ที่เกี่ยวกับอาชีพ
– 看護師 (Kangoshi) — พยาบาล
– コンピュータープログラマー (Konpyūtā puroguramā) — นักเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์
– 医者 (Isha) — แพทย์
– 先生 (Sensei) — ครูอาจารย์
– 販売員 (Hanbaiin) — พนักงานขาย
– 会計士 (Kaikeishi) — นักบัญชี
– スポーツインストラクター (Supōtsu insutorakutā) — ครูสอนกีฬา
– 美容師 (Biyōshi) — ช่างทำผม
เรามีคำศัพท์บอกอาชีพภาษาญี่ปุ่นอีกหลายคำ ไม่ว่าจะเป็นงานประจำ งานชั่วคราว หรืองานพาร์ทไทม์ต่างๆ ไปดูกันว่าคำไหนที่ใช้เรียกอาชีพของคุณ
10. ฉันทำงานที่… ภาษาญี่ปุ่น
- 私は…で働いています。
(Watashi wa…de hataraite imasu.)
ฉันทำงานที่…
เป็นอีกหนึ่งสำนวนที่ใช้บอกสถานที่ทำงานของตัวเอง
で (de) หมายถึง “ที่”
働いています (hataraite imasu) เป็นรูปกริยาที่ผันมาจากคำว่า 働く (hataraku) มีความหมายว่า “(ฉันกำลัง)ทำงาน”
คำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับสถานที่ทำงาน :
– 銀行 (Ginkō) — ธนาคาร
– 会社 (Kaisha) — บริษัท (คำทั่วไป)
– 貿易会社 (Bōekigaisha) — บริษัทจัดจำหน่าย
– 広告会社 (Kōkokugaisha) — บริษัทโฆษณา
– 建築事務所 (Kenchiku jimusho) — สำนักงานสถาปนิก
– アパレル会社 (Aparerugaisha) — บริษัทเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย
– 病院 (Byōin) — โรงพยาบาล
– レストラン (Resutoran) — ร้านอาหาร
– デパート (Depāto) — ห้างสรรพสินค้า
11. ครอบครัวของฉันมีสมาชิก…คน ภาษาญี่ปุ่น
- 私は…人家族です。
(Watashi wa…-nin kazoku desu.)
ครอบครัวของฉันมีสมาชิก…คน
เป็นเรื่องปกติธรรมดามากๆ เลยนะคะ ที่จะแนะนำตัวเองว่าในครอบครัวของเรามีสมาชิกกี่คน เติมตัวเลขเพื่อบอกจำนวนสมาชิกลงในช่องว่างได้เลยค่ะ
人 (nin) เป็นคำระบุจำนวนคน แปลว่า “คน” ใช้เติมหลังตัวเลขบอกจำนวน
家族 (kazoku) หมายถึง “ครอบครัว”
หรือจะแนะนำตัวว่าเรามีพี่น้องกี่คนก็ได้
ตัวอย่าง:
私は姉と弟がいます。
(Watashi wa ane to otōto ga imasu.)
ฉันมีพี่สาวหนึ่งคนและมีน้องชายหนึ่งคน
姉 (ane) หมายถึง “พี่สาว”
弟 (otōto) หมายถึง “น้องชาย”
います (imasu) เป็นคำสุภาพในภาษาญี่ปุ่น ผันมาจากคำว่า いる (iru) ซึ่งหมายถึง “มี”
12. ฉันมี (สัตว์เลี้ยง) ภาษาญี่ปุ่น
- 私は…を飼っています。
(Watashi wa…o katte imasu.)
ฉันมี (สัตว์เลี้ยง)
を (o) เป็นคำชี้กรรมในประโยค
飼っています (katte imasu) เป็นรูปกริยาที่ผันมาจากคำว่า 飼う (kau) หมายถึง “(ฉัน)รักษาและเลี้ยงดู(สัตว์เลี้ยง)”
คำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยง :
– 犬 (Inu) — สุนัข
– ハムスター (Hamusutā) — แฮมสเตอร์
– 小鳥 (Kotori) — นกขนาดเล็ก
– ヘビ (Hebi) — งู
– うさぎ (Usagi) — กระต่าย
– ねこ (Neko) — แมว
13. งานอดิเรกของฉันคือ… ภาษาญี่ปุ่น
- 私の趣味は…です。
(Watashi no shumi wa…desu.)
งานอดิเรกของฉันคือ…
เป็นเรื่องที่ดีที่จะแนะนำว่าอะไรที่เราชอบทำในเวลาว่างเพื่อให้ผู้อื่นรู้จักเรามากขึ้นค่ะ ในประเทศญี่ปุ่นถือเป็นเรื่องธรรมดาที่จะบอกข้อมูลเกี่ยวกับงานอดิเรกของตัวเอง ยกเว้นว่างานอดิเรกนั้นจะเป็นเรื่องที่เป็นส่วนตัวมากเกินไปค่ะ (เช่น กิจกรรมทางการเมืองหรือศาสนา เป็นต้น)
私の (Watashi no) หมายถึง “ของฉัน”
趣味 (shumi) หมายถึง “งานอดิเรก”
คำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับงานอดิเรก :
– 登山 (Tozan) — ปีนเขา
– 映画鑑賞 (Eiga kanshō) — ดูหนัง
– 写真 (Shashin) — ถ่ายรูป
– 旅行 (Ryokō) — ท่องเที่ยว
– マンガ (Manga) — การ์ตูนมังงะ
– スキー (Skī) — สกี
– サーフィン (Sāfin) — เล่นเซิร์ฟ
เราอาจจะแนะนำไปด้วยว่าเราเก่งเรื่องอะไร โดยใช้คำศัพท์ต่างๆที่เหมาะสมเติมลงไปในช่องว่าง
- 私は…が得意です。
(Watashi wa…ga tokui desu.)
ฉันเก่งเรื่อง…
得意 (tokui) เป็นคำนามมีความหมายว่า “เก่ง”
คำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับความสามารถในด้านต่างๆ :
– サッカー (sakkā) — ฟุตบอล
– スポーツ (Supōtsu) — กีฬา
– プログラミング (Puroguramingu) —เขียนโปรแกรม
– デザイン (Dezain) — ออกแบบ
– 歌うこと (Utau koto) — ร้องเพลง
– 料理 (Ryōri) — ทำอาหาร
– 楽器の演奏 (Gakki no ensō) — เล่นเครื่องดนตรี
– ゲーム (Gēmu) — เกม
14. อาหารโปรดของฉันคือ… ภาษาญี่ปุ่น
- 私は…が好きです。
(Watashi wa…ga suki desu.)
ฉันชอบ…
อาหารเป็นหัวข้อที่ง่ายต่อการสนทนาเสมอและสามารถขยายความไปยังบทสนทนาอื่นๆได้อีกมากเลยค่ะ จากตัวอย่างเราสามารถเติมคำศัพท์ที่เหมาะสมลงในช่องว่างได้เลย
好き (suki) หมายถึง “ชอบ”
が (ga) เป็นตัวชี้กรรมในประโยค
คำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับอาหาร :
– 日本食 (Nihonshoku) — อาหารญี่ปุ่น
– 中華料理 (Chūka ryōri) — อาหารจีน
– 韓国料理 (Kankoku ryōri) — อาหารเกาหลี
– イタリア料理 (Itaria ryōri) — อาหารอิตาเลียน
– フランス料理 (Furansu ryōri) — อาหารฝรั่งเศส
– メキシコ料理 (Mekishiko ryōri) — อาหารเม็กซิกนะ
– 焼肉 (Yakiniku) — บาร์บีคิวญี่ปุ่น
– カツ丼 (Katsudon) — ข้าวหน้าหมูทอด
– お好み焼き (Okonomiyaki) — แพนเค้กญี่ปุ่น
– 果物 (Kudamono) — ผลไม้
– 甘いもの (Amai mono) — ของหวาน
15. โปรแกรมโซเชียลเน็ตเวิร์กที่ฉันใช้คือ… ภาษาญี่ปุ่น
- 私は…を使っています。
(Watashi wa…o tsukatte imasu.)
ฉันใช้…
เมื่อเราต้องแนะนำตัวในสถานการณ์ที่ไม่เป็นทางการ เช่น เรากำลังทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ เราสามารถบอกบัญชีโซเชียลเน็ตเวิร์กที่เราใช้อยู่เพื่อใช้สำหรับติดต่อกับพวกเขาได้ หรือให้เพื่อนใหม่ของเรามาแอดเฟรนด์ หรือฟอลโลว์กันค่ะ
を (o) เป็นตัวชี้กรรมในประโยค
使っています (tsukatte imasu) เป็นรูปกริยาที่ผันมาจาก tsukau (使う) ซึ่งหมายถึง “ฉันกำลัง(ใช้)อยู่”
เติมโปรแกรมโซเชียลเน็ตเวิร์กต่างๆเหล่านี้ ลงไปในช่องว่าง เช่น เฟสบุ๊ก, ลิงค์อิน ฯลฯ
– インスタグラム (Insutaguramu) — อินสตาแกรม (Instagram)
– フェイスブック (Feisu bukku) — เฟสบุ๊ก (Facebook)
– リンクトイン (Rinkutoin) — ลิงค์อิน (LinkedIn)
– ライン (Rain) — ไลน์ (Line)
หากเราแนะนำตัวเองกับเพื่อนเป็นภาษาญี่ปุ่นและต้องการให้พวกเขาค้นหาบัญชีรายชื่อของเราและเพิ่มเราเป็นเพื่อน เราสามารถใช้ประโยคต่อไปนี้และเติมชื่อบัญชีของตัวเองลงในช่องว่างค่ะ
私のユーザー名は…です。
(Watashi no yūzāmei wa…desu.)
ชื่อผู้ใช้งาน(username)ของฉันคือ…
ユーザー (yūzā) คือคำว่า “user” ที่แปลว่า “ผู้ใช้” ในแบบภาษาญี่ปุ่น
名 (mei) แปลว่า “ชื่อ”
สิ่งหนึ่งที่ต้องจำเมื่อแนะนำตัวเองเป็นภาษาญี่ปุ่นคือต้องเข้าใจวัฒนธรรมญี่ปุ่นด้วย เช่น วัฒนธรรมการโค้งคำนับแบบญี่ปุ่น ที่เป็นวัฒนธรรมที่คล้ายกับไหว้ในวัฒนธรรมไทย และปกติแล้วเมื่อคนญี่ปุ่นแนะนำตัวเอง จะหลีกเลี่ยงการพูดเกี่ยวกับตัวเอง หรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวเองมากเกินไป ดังนั้นคุณควรเรียนวัฒนธรรมญี่ปุ่นควบคู่กับการเรียนภาษาญี่ปุ่นด้วย ซึ่งคุณจะได้ประโยชน์อย่างมากหากคุณได้เรียนภาษาญี่ปุ่นกับครูคนญี่ปุ่น หรือครูคนไทยที่รู้วัฒนธรรมญี่ปุ่น เพื่อช่วยให้คุณสื่อสารภาษาญี่ปุ่นได้เป็นอย่างธรรมชาติมากที่สุด