วิธีกล่าวคำขอโทษภาษาญี่ปุ่น ごめんなさい (Gomen’nasai) โกเมนนาไซ

ขอโทษภาษาญี่ปุ่น ใช้คำว่า

ごめんなさい
(Gomen’nasai)
ขอโทษนะ

หลายคนที่เรียนภาษาญี่ปุ่นกับครูญี่ปุ่นอาจจะคุ้นเคยกับประโยคนี้มาไม่มากก็น้อย โดยคำว่า ごめんなさい (Gomen’nasai) ใช้กล่าวขอโทษคนที่สนิทสนมกับผู้พูด เช่น คนในครอบครัว เพื่อน เป็นต้น

เช่นเดียวกับประโยคในชีวิตประจำวันในภาษาญี่ปุ่นอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น คำทักทายในภาษาญี่ปุ่น การขอบคุณภาษาญี่ปุ่น รวมไปถึงวิธีพูดขอโทษก็จะมีการใช้ภาษาสุภาพที่แตกต่างกันไปตามสถานภาพทางสังคมและความสัมพันธ์ระหว่างผู้พูดกับผู้ฟัง โดยวิธีพูด “ขอโทษ” ในบทความนี้จะแบ่งเป็น วิธีขอโทษแบบเป็นทางการและแบบไม่เป็นทางการ

วิธีพูด “ขอโทษ” อย่างไม่เป็นทางการ ภาษาญี่ปุ่น

ごめんなさい (Gomen’nasai) — ขอโทษนะ

คำนี้เป็นคำขอโทษที่มีความหมายรวมๆ แต่เข้าใจได้ง่ายและใช้ได้ทั่วไปในภาษาญี่ปุ่น

กล่าวคือ แม้ว่าจะมีสถานการณ์ที่อาจจำเป็นต้องใช้คำอื่นในการขอโทษ แต่หากเราเลือกใช้คำนี้ คนญี่ปุ่นเจ้าของภาษาส่วนใหญ่ก็มักจะเข้าใจว่าเราหมายถึงอะไร

อย่างไรก็ตาม อาจจะฟังดูไม่ค่อยสุภาพนัก หากใช้คำนี้ขอโทษผู้ที่อาวุโสกว่า ไม่ว่าจะในแง่ของวัยวุฒิและคุณวุฒิก็ตาม แต่ถ้าเราต้องการพัฒนาทักษะการใช้ภาษา เราควรเรียนรู้ในทุกแง่มุมของภาษานั้นด้วย

本当にごめんね (Hontōni gomen ne) — ฉันเสียใจจริงๆ

เป็นคำขอโทษที่ออกมาจากใจ ไม่เสแสร้ง โดยทั่วไปมักใช้ระหว่างเพื่อนสนิทหรือระหว่างหญิงชาย เมื่อเกิดความผิดพลาดในความสัมพันธ์หรือต้องการขอโทษคนที่เรากำลังแอบชอบอยู่ สำนวนนี้ฟังดูไม่เลวเลยทีเดียว

すみません(Sumimasen) — ขอโทษ

เป็นหนึ่งในวิธีการพูดขอโทษในภาษาญี่ปุ่นที่ใช้กันบ่อยมากที่สุด ใช้ในสถานการณ์ที่ดูเป็นความผิดพลาดเล็กๆน้อยๆ ไม่ร้ายแรง เช่น เวลาที่เราบังเอิญเดินเฉี่ยวชนกับใครบางคนบนถนนหรือแสดงพฤติกรรมทางสังคมที่น่าอับอาย แต่ไม่รุนแรง

คำว่า すみません (Sumimasen) บ่อยครั้งมักถูกใช้สลับกับคำว่า 御免なさい (Gomensai) แต่จริงๆแล้ว すみません (Sumimasen) ใช้ในสถานการณ์ที่ไม่จำเป็นต้องขอโทษแบบสำนึกถึงความผิด แต่เป็นเพียงเรื่องผิดพลาดเล็กๆน้อยๆ หรือขอโทษที่ต้องรบกวนผู้อื่นมากกว่า ตรงข้ามกับ 御免なさい (Gomensai) ที่ใช้เมื่อเรารู้สึกเสียใจและสำนึกผิดในการกระทำจริงๆ

วลีนี้ยังสามารถใข้เมื่อต้องการเกริ่นเรียก เมื่อต้องการถามทางในภาษาญี่ปุ่นได้ด้วย หรือใช้เรียกพนักงานเสิร์ฟเพื่อสั่งอาหารเป็นภาษาญี่ปุ่น ก็ใช้คำว่า すみません(Sumimasen) ได้เหมือนกัน

お邪魔します (Ojamashimasu) — ขอโทษที่รบกวน

วลีนี้มีความหมายประมาณว่า “ขอโทษที่รบกวน” “ขอโทษที่ทำให้วุ่นวาย” หรือ “ขอโทษที่ขัดจังหวะ”

เราจะใช้ในสถานการณ์ที่เราต้องไปเยี่ยมบ้านผู้อื่นอย่างกะทันหันหรือไปเคาะประตูเสนอขายสินค้าตามบ้าน และยังสามารถใช้พูดเมื่อโทรศัพท์ไปหาใครสักคนด้วย

本当にごめんなさい (Hontōni gomen’nasai) — ฉันขอโทษจริงๆ

เราไม่ใช้คำนี้กับครูอาจารย์หรือเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ใช้พูดกับคนแปลกหน้าหรือเพื่อนฝูงมากกว่า โดยปกติจะใช้ในกรณีที่เป็นความผิดแบบรู้เท่าไม่ถึงการณ์และผู้พูดรู้สึกแย่และสำนึกผิดจริงๆ

どうもすみません (Dōmo sumimasen) — ขอโทษนะ เกรงใจจริงๆ !

อาจจะดูแปลกไปสักหน่อยที่วลีนี้จับเอาคำว่า どうも (Dōmo) ที่หมายถึง “ขอบคุณ” มารวมกับ すみません (sumimasen) ที่แปลว่า ”ขอโทษ“ มารวมกัน เราจะขอบคุณและขอโทษใครสักคนในคราวเดียวกันได้อย่างไร? วลีนี้เราจะใช้ในสถานการณ์ที่มีใครสักคนมาช่วยเราทำงานเล็กๆน้อยๆ

การที่เพื่อนรินน้ำชาให้เราตอนทานมื้อกลางวันหรือเพื่อนร่วมงานนำแฟ้มงานที่เราต้องการมาให้ กรณีเหล่านี้ฟังดูแล้วควรจะต้องบอก “ขอบคุณ” มากกว่า “ขอโทษ“ แต่เป็นวัฒนธรรมของคนญี่ปุ่นเองที่จะพูดขอโทษในในเชิงเกรงใจที่ต้องรบกวนและขอบคุณในคราวเดียวกัน

許して / 許してください (Yurushite/ yurushitekudasai) — ยกโทษให้ฉันด้วย / ได้โปรดยกโทษให้ฉันด้วย

เราจะใช้วลีนี้เมื่อเราทำให้ใครอารมณ์เสีย โกรธหรือรำคาญ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน, คนแปลกหน้า, เจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้มีอำนาจ

วลีนี้ถือเป็นสำนวนที่ดีไว้ใช้ในกรณีที่เราไม่ต้องการรู้สึกเสียหน้า เนื่องการการตะโกนใส่คนอื่นหรือตีโพยตีพายออกไปนั้นเป็นการกระทำผิดทางสังคมและถือเป็นเรื่องใหญ่ หากเราใจเย็นและขอให้คู่กรณีให้อภัย เราจะดูดีในสายตาผู้อื่นมาก

勘弁して / 勘弁してください (Kanbenshite/ kanbenshitekudasai) — ปราณีฉันด้วยเถิด / ได้โปรด ปราณีฉันด้วย

วลีนี้อาจจะดูคล้ายกับ 許して (Yurushite) แต่จริงๆแล้วเข้มข้น เอาจริงเอาจังกว่ามาก

หากเราทำผิดพลาดอย่างมหันต์ เช่น การนอกใจคู่สมรสหรือต้องรับผิดชอบในเหตุการณ์ที่เลวร้ายรุนแรง เราจะพูดว่า 勘弁して / 勘弁してください (Kanbenshite/ kanbenshitekudasai) และบางครั้งอาจจะพูดพร้อมกับคุกเข่าไปด้วยเนื่องจากสำนึกในความผิดและรู้สึกเสียใจอย่างสุดซึ้ง

合わせる顔がない (Awaserukaoganai) — ฉันคงไม่สามารถสู้หน้าคุณได้

วลีนี้สามารถแปลได้อีกว่า “ฉันอายเกินไปที่จะเผชิญหน้ากับคุณ”

สามารถใช้สำนวน 弁解の余地がない (Benkai no yochiganai) แทนได้ แต่ส่วนใหญ่เราจะใช้วลีนี้ในการส่งข้อความหรืออีเมล์กันมากกว่า จึงเป็นที่มาของวลีนี้ที่บอกว่า “เขินอายเกินกว่าจะเผชิญหน้ากับคุณ” นั่นเอง

弁解の余地がない (Benkai no yochiganai) — ไม่มีข้อแก้ตัว

เราจะใช้วลีนี้เมื่อทำผิดพลาดอย่างไม่มีข้อแก้ตัวใดๆ สำหรับสิ่งที่เราทำลงไป เช่น ทำร้ายความรู้สึกคู่สมรสหรือถูกจับได้ว่าปกปิดอะไรอยู่

すごい ごめんね (Sugoi gomen ne) — ฉันเสียใจมากจริง ๆ

หากเราเคยทำอะไรที่ไปทำร้ายความรู้สึกของเพื่อนสนิท ดูหมิ่นความรู้สึก หรือทำร้ายพวกเขาในทางใดทางหนึ่ง ใช้วลีนี้ก็เหมาะสม ถึงจะค่อนข้างไม่เป็นทางการแต่ยังคงจริงจังจริงใจ

เราอาจจะได้ยินวลีนี้ที่ใช้ระหว่างเด็กๆ หลังจากที่พวกเขาทะเลาะกัน

วิธีพูด “ขอโทษ” อย่างเป็นทางการ ภาษาญี่ปุ่น

謝罪いたします (Shazai itashimasu) — ผม/ดิฉันขอประทานโทษ

เป็นวิธีขอโทษอย่างเป็นทางการ มักเห็นได้ทั่วไปทางออนไลน์หรือในสื่อสิ่งพิมพ์ จากคนดังหรือนักการเมืองที่ทำเรื่องอื้อฉาว

失礼します (Shitsureishimasu) — ขอโทษด้วยนะคะ (ครับ)

สำนวนนี้คล้ายๆกับจะบอกว่า “ฉันไม่สุภาพ“ หรือ ”เป็นความผิดของฉันเอง“

จริงแล้วเป็นวลีที่ไม่ค่อยได้ใช้ในเชิงการขอโทษหรือขออภัย แต่มักใช้พูดเมื่อเดินผ่านใครสักคน, เข้าไปในห้องหรือวางสายโทรศัพท์

เป็นวิธีพูดขอโทษที่มีประโยชน์สำหรับใช้พูดในที่ทำงานหรือในบทสนทนาธุรกิจภาษาญี่ปุ่น เราสามารถใช้คำนี้กับเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้างานก็ได้

これは失礼しました (Kore wa shitsureishimashita) — ฉันขอโทษเกี่ยวกับเรื่องนี้

วลีนี้คล้ายกับ 失礼します (Shitsureishimasu) แต่ยาวกว่า เป็นวิธีขอโทษอย่างเป็นทางการ ใช้พูดกับเพื่อนร่วมงานหรือคนแปลกหน้า หากเรารู้สึกว่าเราทำผิดพลาดจริงๆ

หากเราเดินชนเพื่อนร่วมงานในออฟฟิศที่เราไม่คุ้นเคย และชนไฟล์เอกสารของเขาหลุดออกจากมือ ขณะที่ช่วยเขาหยิบไฟล์เอกสาร เราก็จะพูดว่า これは失礼しました (Kore wa shitsureishimashita)

ご面倒をお掛けして、すみません (Go mendō o o-kake shite, sumimasen) — ฉันขอโทษสำหรับปัญหาทั้งหมดนี้

เราใช้วลีนี้พูดขอโทษในที่ทำงานเมื่อมีคนทำบางสิ่งบางอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อเรา

วลีนี้ไม่ใช่การคุกเข่าอ้อนวอนหรือขอให้อีกฝ่ายให้อภัย แต่เป็นคำขอโทษแบบพอเป็นพิธีเพื่อขอบคุณใครสักคน ในแบบญี่ปุ่น

申し訳ありません (Mōshiwakearimasen) — ฉันรู้สึกแย่มาก

เป็นคำขอโทษที่เป็นทางการมากๆ ใช้พูดกับผู้บังคับบัญชาในที่ทำงาน, เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือบุคคลที่มีอำนาจอื่นๆ

นอกจากนี้ยังเป็นวลีที่เป็นทางการในการแสดงความรู้สึกขอบคุณอย่างสุดซึ้งต่อบางสิ่งบางอย่าง คล้ายกับวลี これは失礼しました (Kore wa shitsureishimashita) แต่เอาจริงเอาจังกว่า และใช้เมื่อต้องการขออภัยผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าหรือเจ้าหน้าที่รัฐ

お詫びします (Owabi shimasu) — ขออภัย

สำนวนนี้อาจจะเป็นวิธีขอโทษที่เป็นทางการมากที่สุดในภาษาญี่ปุ่น

ประโยคนี้เป็นที่รู้จักจากอดีตนายกรัฐมนตรีมุรายามะ เพื่อขอโทษชาวโลกที่ญี่ปุ่นมีส่วนร่วมในสงครามโลกครั้งที่สอง และนี่เป็นระดับความผิดที่เราจำเป็นต้องพูดสำนวนนี้

เมื่อเรารู้จักวิธีการพูดขอโทษแล้ว เราควรเรียนรู้การโค้งคำนับแบบญี่ปุ่นไปพร้อมกัน เนื่องจากการโค้งคำนับในญี่ปุ่นนั้นถือเป็นเรื่องสำคัญทั้งมิติเชิงสังคมและเชิงธุรกิจ การขอโทษพร้อมกับการโค้งคำนับจะบ่งบอกถึงมารยาท ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความสำนึกผิดและการแสดงถึงความเสียใจอีกด้วย

วิธี “ตอบรับคำขอโทษ” ภาษาญี่ปุ่น

かまいません (Kamaimasen) — ไม่เป็นไร

เป็นวลีตอบรับง่ายๆแบบเป็นกันเอง ใช้ตอบคำขอโทษใดๆ ก็ได้ แฝงความหมายว่า “ไม่ต้องกังวล” เมื่อมีคนเข้ามาขอโทษเราในเรื่องบางเรื่อง เราอาจจะพูดคำนี้ออกไปเพื่อให้พวกเขาแน่ใจว่าเราจะไม่อารมณ์เสียหรือกังวลกับสถานการณ์นี้ และไม่มีความจำเป็นที่พวกเขาต้องรู้สึกผิดหรือต้องมาขอโทษเราอีกต่อไป

大丈夫です (Daijōbudesu) — ไม่เป็นไร

วลีนี้คล้ายกับ かまいません (Kamaimasen) ใช้ในสถานการณ์ที่ไม่เป็นทางการ ใช้พูดเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับคนที่เข้ามาขอโทษว่าความผิดพลาดหรือการกระทำของพวกเขาได้รับการอภัยแล้ว และไม่ได้ถือเป็นเรื่องใหญ่

ยกตัวอย่างเช่น หากใครสักคนขอโทษเราที่มาสาย เราอาจจะตอบว่า 大丈夫です (Daijōbudesu) เพื่อให้พวกเขาทราบว่าการมาสายไม่ได้ทำให้เราลำบากใจหรือไม่สะดวกแต่อย่างใด

気にしないでください (Kinishinaide kudasai) — โปรดอย่าเป็นกังวล

เป็นวลีที่ไม่เป็นทางการ ใช้เมื่อต้องการให้ความมั่นใจแก่คนที่เข้ามาขอโทษ ว่าเราไม่ได้กังวลหรือทุกข์ใจกับความผิดพลาดของพวกเขา และเรายังต้องการขจัดความรู้สึกผิดหรือกังวลของเขาออกไป

เป็นอีกวิธีที่ดีในการตอบรับคำขอโทษ เมื่อเราสัมผัสได้ว่าคนที่เข้ามาขอโทษรู้สึกแย่กับสิ่งที่ทำลงไปจริงๆ เพราะไม่ใช่แค่การให้อภัยเท่านั้น แต่ยังพยายามทำให้พวกเขาสบายใจและคลายความกังวลลงไปอีกด้วย

ありがとう、謝罪を受け入れます (Arigatō, shazai o ukeiremasu) — ขอบคุณครับ (ค่ะ), ผม(ดิฉัน) เต็มใจรับคำขอโทษจากคุณ

สำนวนนี้ใช้ตอบรับคำขอโทษอย่างเป็นทางการ มีประโยชน์ในสถานการณ์ที่เราต้องการสื่อสารออกไปอย่างชัดเจนว่าคำขอโทษนั้นได้รับการยอมรับแล้ว และเราไม่ได้รู้สึกหนักใจใดๆ เป็นวิธีการจัดการคำขอโทษด้วยความรู้สึกเคารพและเห็นอกเห็นใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่คำขอโทษนั้นมีความสำคัญหรือเมื่อต้องการรักษาบรรยากาศในการทำงานเชิงบวกหรือเมื่อความสัมพันธ์ส่วนตัวเป็นสิ่งสำคัญ

อัพเดทล่าสุด: