ครูภาษาญี่ปุ่น ทุกคำ 先生, 教師, 講師, 親方 เรียก ครู โค้ช แพทย์ฯลฯ
วิธีเรียกครูในภาษาญี่ปุ่น เราจะเรียกครูด้วยคำภาษาญี่ปุ่นว่า เซ็นเซ
先生
(sensei)
ครู
การเรียกครูที่ถูกต้องในภาษาญี่ปุ่น มีวิธีเรียกดังต่อไปนี้
นามสกุล + 先生 (sensei)
ตัวอย่างเช่น
“すみません、津川先生、しつもんが あります。。。”
(sumimasen, tsugawa sensei, shitsumon-ga arimasu…)
“ขอโทษครับ, คุณครูทสึกาวะ ผมมีข้อสงสัยว่า…”
หากเรารู้สึกคุ้นเคยหรือค่อนข้างสนิทกับครูแล้ว สามารถเติมคำว่า さん (san) เข้าไปหลังนามสกุลได้
津川さん先生
(tsugawa san sensei)
คุณครูทสึกาวะซัง
คำภาษาญี่ปุ่นที่แปลว่าครูที่เราคุ้นเคย คือคำว่า เซ็นเซ แต่คำเรียกครูภาษาญี่ปุ่นยังมีอีกหลายคำ
先生 (sensei) หมายความว่าอย่างไร
วิธีที่ดีเมื่อเราได้เรียนรู้คำศัพท์ใหม่ๆ ในภาษาญี่ปุ่น เราควรเริ่มพิจารณาจากตัวคันจิก่อน
先 (せん) = ก่อนหน้า
生 (せい) = เกิด
เมื่อรวมกันแล้วจึงหมายความว่า “ผู้ที่เกิดก่อนคุณ” ย้อนกลับไปสมัยก่อน การมีชีวิตอยู่มายาวนานหมายถึงการมีประสบการณ์และความรู้ที่เพิ่มมากขึ้น (ตอนนี้ก็ยังคงหมายถึงแบบนั้นอยู่) แม้ว่าปัจจุบัน 先生 (sensei) ไม่จำเป็นต้องมีอายุมากกว่าเสมอไป แต่ส่วนใหญ่จะหมายถึงผู้ที่มีประสบการณ์, มีทักษะและมีความรู้
สำหรับภาษาพูดโดยทั่วไป จะมีบุคคลอยู่สองประเภทที่เราเรียกพวกเขาว่า 先生 (sensei) ได้แก่ ครูกับผู้เชี่ยวชาญบางคน และแน่นอนว่าทุกอย่างย่อมมีข้อยกเว้น ครูหรือผู้สอนบางคน เราก็ไม่ได้เรียกว่า 先生 (sensei) แม้ว่าพวกเขาจะสอนอยู่ก็ตาม ในทางกลับกัน บางคนที่ไม่ได้สอนเรากลับเรียกว่า 先生 (sensei) เพราะฉะนั้นเรามาลุ้นกันว่าใครเป็นใคร
先生 (sensei) ใช้เรียก ครู
先生 (sensei) ก็คือคนทุกคนที่เป็นครูนั่นเอง บางครั้งผู้คนมักพูดติดตลกว่า Google ก็เป็นคุณครูเหมือนกันนะ โดยการพูดว่า
グーグル先生
(Gūguru sensei)
คุณครูกูเกิ้ล
เพราะกูเกิ้ลรู้และสอนเราได้ทุกอย่าง (หรืออย่างน้อยก็ทำให้เรารู้สึกแบบนั้น) แต่โดยปกติคนที่เป็นคุณครู หรือ 先生 (sensei) มักจะสอนเฉพาะเจาะจงสิ่งใดสิ่งหนึ่งเท่านั้น
先生 (sensei) ใช้เรียก คนทำงานในสถานศึกษา
หากมีใครสักคนทำงานอยู่ในโรงเรียน เราก็แทบจะฟันธงได้เลยว่า คนๆนี้จะถูกเรียกว่า 先生 (sensei)
ครูที่สอนพิเศษตามบ้าน หรือติวเตอร์ ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า
家庭教師
(Kateikyōshi)
ครูสอนพิเศษที่บ้าน
ในประเทศญี่ปุ่นก็มักถูกเรียกว่า 先生 (sensei) ด้วยเช่นกัน เพราะคำว่า
教師
(kyōshi)
ติวเตอร์, ครู, ผู้ให้ความรู้
คำว่า 教師 (kyōshi) อ่านว่า เคียวชิ ก็มีความหมายคล้ายกับ 先生 (sensei) และหากเรามีติวเตอร์สอนภาษาญี่ปุ่นที่บ้าน เราก็สามารถเรียกพวกเขาทั้งหมดว่า 先生 (sensei) แม้ว่าติวเตอร์คนนั้นจะสอนภาษาญี่ปุ่นออนไลน์ก็ตาม นอกจากนั้นคำว่าติวเตอร์ในภาษาญี่ปุ่นยังออกเสียงทับศัพท์ตามคำว่าติวเตอร์ในภาษาอังกฤษได้ด้วย เนื่องจากคนญี่ปุ่นเริ่มใช้คำทับศัพท์กันมากขึ้น
チューター
(chuutaa)
ติวเตอร์
แต่สำหรับเพื่อนร่วมชั้นเรียนที่สอนนักเรียนคนอื่นซึ่งมีความสัมพันธ์แบบรุ่นพี่-รุ่นน้อง เรามักจะไม่เรียกพวกเขาว่า 先生 (sensei)
先輩
せんぱい
(senpai)
รุ่นพี่
หรือ
後輩
こうはい
(kōhai)
รุ่นน้อง
คนที่ถูกเรียกว่า 先生 (sensei) แต่ไม่ได้สอนจริงๆ เช่น เจ้าหน้าที่ในสถานรับเลี้ยงเด็ก 保育園 (Hoikuen) และเจ้าหน้าที่ดูแลเด็กในกิจกรรมหลังเลิกเรียน 学童保育 (Gakudō hoiku) ก็ถูกเรียกว่า 先生 (sensei) ด้วย แม้ว่างานของพวกเขาจะเกี่ยวข้องกับการดูแลเด็กมากกว่าการสอนก็ตาม นอกจากนี้พยาบาลประจำโรงเรียนก็เรียกว่า 先生 (sensei) ด้วยเช่นกัน แม้ว่าจะไม่ได้สอนในห้องเรียนเหมือนครูคนอื่นๆ
保健室の先生
(Hoken-shitsu no sensei)
ครูพยาบาล
先生 (sensei) ใช้เรียก คนที่มีความสามารถเฉพาะทาง
ในโรงเรียนอาชีวศึกษา 専門学校 (Senmon gakkō) ผู้สอนทักษะทางเทคนิคต่างๆ รวมไปถึงเชฟทำอาหาร, ช่างเสริมสวย หรือนักออกแบบกราฟฟิค หรือแม้กระทั่งผู้สอนในโรงเรียนสอนขับรถต่างก็ถูกเรียกว่า 先生 (sensei) เช่นกัน
ครูในความหมายดังกล่าวนี้ บางครั้งก็เรียกว่า 師匠 (shishō) ซึ่งมีความหมายว่า “ผู้เชี่ยวชาญ” จะดีที่สุดควรถามพวกเขาให้มั่นใจก่อนว่าต้องการให้เรียกว่าอย่างไร
先生と呼んだ方がいいですか? それとも師匠と呼びましょうか?
Sensei to yonda kata ga īdesu ka? Soretomo shishō to yobimashou ka?
ผมควรเรียนคุณว่า “คุณครู” หรือ “ผู้เชี่ยวชาญ” ดีครับ?
先生 (sensei) ใช้เรียก ครูสอนนาไรโกโตะ
ในประเทศญี่ปุ่นนั้น ผู้ปกครองมักส่งบุตรหลานไปเรียนนาไรโกโตะ 習い事 (naraigoto) ซึ่งเป็นกิจกรรมนอกห้องเรียน โดยมากจะเป็นการสอนที่เกี่ยวข้องกับศิลปะวัฒนธรรม เช่น ดนตรี, การประดิษฐ์ตัวอักษรหรือคัดลายมือ, ศิลปะการต่อสู้, กีฬานานาชนิด, วิชาภาษาอังกฤษหรือโรงเรียนกวดวิชาก็นับเป็น 習い事 (naraigoto) เช่นกัน
ตามปกติ ผู้สอนก็จะเรียกว่า 先生 (sensei) และสถานที่ที่เขาสอนมักถูกเรียกว่าห้องเรียน
教室
(kyōshitsu)
ห้องเรียน
ครูสอนบางคนใช้สตูดิโอเป็นห้องเรียน แต่บางคนก็ใช้บ้านตัวเอง หรือบ้านนักเรียนก็ได้
ตัวอย่างนาไรโกโตะยอดนิยมสำหรับเด็กๆ
- ピアノ — เปียโน
- そろばん — ลูกคิด
- 習字 — การคัดลายมือ
- バレエ — บัลเลต์
ผู้ใหญ่ก็นิยมเรียนนาไรโกโตะ 習い事 (Naraigoto) และครูผู้สอนก็จะเรียกว่า 先生 (sensei) เช่นกัน
先生 (sensei) ใช้เรียก ครูสอนกีฬา, โค้ช
กีฬาแบบญี่ปุ่นดั้งเดิมยังคงได้รับความนิยมอย่างมาก และมารยาทหรือธรรมเนียมปฏิบัติต่างๆ (礼儀) ก็ยังจำเป็นสำหรับนักกีฬาเหล่านี้ ดังนั้นการให้เกียรติคุณครูผู้สอนโดยการเรียกพวกเขาว่า 先生 (sensei) จึงเป็นเรื่องสำคัญ
สำหรับวัฒนธรรมของกีฬาซูโม่จะแตกต่างออกไปบ้าง อาจารย์ของกีฬาซูโม่ เราจะเรียกกันว่า 年寄 (toshiyori) หรือ 親方 (oyakata)
年寄
(toshiyori)
ผู้สูงอายุ
親方
(oyakata)
ผู้เชี่ยวชาญ
แต่ถ้าเป็นคลาสเรียนซูโม่แบบนาไรโกโตะ ผู้ฝึกสอนจะถูกเรียกว่า 先生 (sensei)
สำหรับกีฬาอื่นๆ ที่ไม่ใช่กีฬาของญี่ปุ่นเอง การเรียกครูว่า 先生 (sensei) นั้นไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่โดยมากจะใช้คำทับศัพท์ไปเลยว่า “โค้ช” หรือ “หัวหน้าโค้ช”
コーチ
(koochi)
โค้ช
監督
(kantoku)
หัวหน้าโค้ช
ข้อยกเว้น
สำหรับกิจกรรมหลังเลิกเรียนหรือ 部活 (bukatsu) ในภาษาญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมด้านกีฬาหรือทางวัฒนธรรมอื่นๆ ในแต่ละกิจกรรมจะมีหัวหน้างานที่เป็นครูในโรงเรียนอยู่ด้วย หัวหน้างานเหล่านี้เราจะเรียกว่า 顧問 (komon)
ครูสอนฟิตเนส เราจะเรียกโดยใช้คำทับศัพท์ว่า
トレーナー
(toreenaa)
เทรนเนอร์
ระหว่างเทรนเนอร์กับลูกค้า ปกติจะเรียกกันด้วยนามสกุลและตามด้วยคำว่า さん (san)
นามสกุล + 〜さん (san)
แต่สำหรับโยคะหรือการออกกำลังกายแบบกลุ่ม นักเรียนจะเรียกผู้ฝึกสอนว่า 先生 (sensei) บางครั้งก็ใช้คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า instructor
インストラクター
(Insutorakutaa)
ผู้สอน
แต่ถ้าจะเรียกเป็นสรรพนามบุรุษที่สองหรือเรียกเพื่อให้เกียรติ การใช้คำว่า 先生 (sensei) จะฟังดูเป็นธรรมชาติมากกว่า
โดยรวมๆ หากเป็นเรื่องของกีฬาไม่ค่อยใช้คำว่า 先生 (sensei) ทางที่ดีที่สุดควรจะเรียนรู้หรือถามว่าครูผู้สอนว่าอยากให้เรียนว่าอย่างไร
先生 (sensei) ใช้เรียก มืออาชีพ
ในญี่ปุ่นคำว่า 先生 (sensei) ก็ถูกใช้ในความหมายว่ามืออาชีพได้เหมือนกัน โดยเฉพาะผู้ที่มีชื่อเสียงหรือมีคุณสมบัติพิเศษที่ต้องการ สามารถใช้คำนำหน้าชื่อเป็นพิเศษได้
先生 (sensei) สำหรับ อาชีพเฉพาะทาง
ในประเทศญี่ปุ่น อาชีพหมอ(医者) และทนายความ (弁護士) มีอำนาจทางสังคมสูงมาก ผู้คนเข้าใจดีว่าการที่จะได้รับการรับรองในอาชีพนี้นับว่าเป็นเรื่องยากและใช้เวลานาน ดังนั้นจึงเรียกพวกเขาว่า 先生 (sensei) ด้วยความเคารพและซาบซึ้งใจเมื่อได้รับบริการจากพวกเขา
หากรู้สึกชื่นชมในความสามารถหรือความเชี่ยวชาญของใครสักคน เราอาจจะเรียกเขาว่า 先生 (sensei) เพื่อแสดงถึงความเคารพยกย่อง แต่หากพวกเขาเป็นคนถ่อมตัวอาจจะขอร้องให้หยุดเรียกแบบนั้น ในกรณีนี้เราอาจจะถามกลับไปว่าต้องการให้เรียกพวกเขาว่าอย่างไรจะปลอดภัยที่สุด
先生 (sensei) นักการเมือง
แม้ว่าอาชีพนักการเมืองไม่จำเป็นต้องมีใบอนุญาตหรือการรับรองใดๆ แต่ปกติแล้วนักการเมือง 政治家 (Seijika) ก็ถูกเรียกว่า 先生 (sensei) เช่นกัน เพราะนักการเมืองน่าจะมีส่วนช่วยทำให้สังคมดีขึ้น พวกเขาก็สมควรได้รับคำชื่นชมสักหน่อย
先生 (sensei) สำหรับ ศิลปิน
ศิลปิน, นักดนตรี, จิตรกร, นักวาดภาพประกอบ, นักเขียนหรือแม้แต่ช่างปั้นที่มีชื่อเสียง โดยปกติต่างก็ถูกเรียกว่า 先生 (sensei) เนื่องจากผู้สร้างสรรค์ผลงานเหล่านี้มีพรสวรรค์และต้องฝึกฝนอย่างหนัก
先生 (sensei) ยังเป็นคำที่ใช้เรียกนักเขียนการ์ตูนมังงะ, กวี, นักเขียนบทภาพยนตร์ หรือใครก็ตามที่เป็นนักเขียนมืออาชีพ ไม่ว่าเป็นศิลปินแขนงใด กลุ่มแฟนคลับที่ชื่นชอบก็มักใช้คำว่า 先生 (sensei) เวลาคุยกับพวกเขา
先生 (sensei) สำหรับ ผู้นำทางศาสนา
สำหรับศาสนาเก่าแก่ เช่น ศาสนาพุทธ, ชินโตหรือคริสต์ โดยปกติจะไม่เรียกพระหรือนักบวชว่า 先生 (sensei) ในปัจจุบันคำว่า 先生 (sensei) ในแง่ของศาสนาจะสงวนไว้สำหรับศาสนาใหม่เท่านั้น ซึ่งบางคนจะเรียกผู้ก่อตั้งหรือผู้นำศาสนาว่า 先生 (sensei)
วิธีใช้คำว่า 先生 (sensei)
มาถึงตรงนี้เราก็เข้าใจอย่างลึกซึ้งมากขึ้นว่าเราควรใช้หรือไม่ควรใช้คำว่า 先生 (sensei) กับใครบ้าง ต่อไปเราจะมาทำความรู้จักวิธีการใช้คำว่า 先生 (sensei) กัน
หลักการใช้คำว่า 先生 (sensei)
ในสถานการณ์ทั่วไป การใช้คำว่า 先生 (sensei) ในการแนะนำตัวเองก็ไม่ผิด แต่หากเป็นสถานการณ์ที่เป็นทางการ เราควรใช้คำอื่นที่เหมาะสมมากกว่า
ยกตัวอย่างเช่น แทนที่เราจะพูดว่า
英会話の先生でした。
Eikaiwa no senseideshita.
ฉันเป็นครู (sensei) ที่โรงเรียนเออิไกวะ
เราอาจจะเลือกใช้คำว่า 講師 (kōshi) ซึ่งแปลว่า “อาจารย์หรือวิทยากร” ซึ่งเป็นคำที่เป็นทางการมากขึ้น
英会話の講師でした。
Eikaiwa no kōshideshita.
ฉันเป็นอาจารย์ (kōshi) ที่โรงเรียนเออิไกวะ
ต่อไปนี้คือคำที่มีความหมายเหมือนกับคำว่า 先生 (sensei) ซึ่งเป็นคำศัพท์ทั่วไปที่ใช้เป็นทางการสำหรับวิชาชีพที่เกี่ยวกับการศึกษา
ภาษาญี่ปุ่น | โรมันจิ | ภาษาไทย |
---|---|---|
教師 | Kyōshi | ครู |
教員 | Kyōin | ครูในโรงเรียน |
教諭 | Kyōyu | ครูที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ, ครูประจำ |
保育士 | Hoiku-shi | พนักงานในสถานรับเลี้ยงเด็ก, พี่เลี้ยงเด็ก |
教授 | Kyōju | ศาสตราจารย์ |
准教授 | Jun kyōju | รองศาสตราจารย์ |
講師 | Kōshi | อาจารย์, ครูสอนแทน, ครูโรงเรียนกวดวิชา, ครูสอนภาษา |
教官 | Kyōkan | ครูสอนขับรถหรือสอนขับเครื่องบิน, นักการศึกษาด้านการทหาร |
〜の先生
〜の先生 แปลว่า 〜 ครูของ…
เราจะแทนที่ “〜” ด้วยชื่อวิชาหรือชื่อสถานที่ที่ 先生 (sensei) สอน หรือสิ่งที่ 先生 (sensei) เชี่ยวชาญ โดยใช้คำอนุภาค の (no) ซึ่งบ่อยครั้งถูกเปรียบเทียบกับคำว่า “ของ, สำหรับ” โดยโครงสร้างนี้จะใช้อธิบายประเภทของ 先生 (sensei) ได้
ประเภท | ภาษาญี่ปุ่น | โรมันจิ | ภาษาไทย |
---|---|---|---|
แสดงความเป็นเจ้าของ | 私の先生 | Watashi no sensei | ครูของฉัน |
วิชา | 数学の先生 | Sūgaku no sensei | ครูสอนคณิตศาสตร์ |
ประเภทโรงเรียน | 小学校の先生 | Shōgakkō no sensei | ครูโรงเรียนประถมศึกษา |
ระดับชั้น | 三年の先生 | San-nen no sensei | ครูชั้นประถม 3 |
สาขาทางการแพทย์ | 外科の先生 | Geka no sensei | ศัลยแพทย์ |
อาชีพ | 漫画家の先生 | Mangakka no sensei | นักเขียนการ์ตูนมังงะ |
ข้อยกเว้นอีกประการหนึ่ง คือ ตำแหน่งในโรงเรียนไม่ควรใช้คำอนุภาค の (no) เช่น ครูใหญ่ หรือ 校長 (kōchō) เราจะเรียกว่า 校長先生 (kōchō sensei) ไม่ใช่ 校長の先生 (kōchō no sensei)
私の父は、小学校の先生でした。
(Watashinochichi wa, shōgakkō no senseideshita.)
พ่อของฉันเป็นครูโรงเรียนประถมศึกษา
歯医者の先生に、健診をしてもらった。
(Haisha no sensei ni, kenshin o shite moratta.)
หมอฟันของฉันตรวจสุขภาพฟันให้ฉันเป็นประจำ
私は、着付けワークショップの先生です。
(Watashi wa, kitsuke wākushoppu no senseidesu.)
ฉันเป็นผู้สอนในเวิร์คช็อปการสวมชุดกิโมโน
สรรพนามบุรุษที่หนึ่ง : ใช้ 先生 (sensei) แทนคำว่า “ฉัน”
เราสามารถใช้คำว่า 先生 (sensei) เป็นสรรพนามบุรุษที่หนึ่งแทนคำว่า “ฉัน” ได้ในกรณีที่คุณเป็น 先生 (sensei) เท่านั้น ครูที่สอนเด็กเล็กมักจะใช้คำว่า 先生 (sensei) ค่อนข้างบ่อย แต่เราจะไม่ใช้เรียกตัวเอง หาเราเป็นครูในระดับวิทยาลัย เพราะนักศึกษาโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว
先生の話を、きちんと聞いてください。
(Sensei no hanashi o, kichinto kiite kudasai.)
ฟังคุณครูนะคะ
สรรพนามบุรุษที่สอง : ใช้ 先生 (sensei) แทนคำว่า “คุณ”
หากคุณเป็นนักเรียน, คนไข้ หรือลูกค้าของ 先生 (sensei) หรือเป็นใครก็ตามที่ทำงานกับ 先生 (sensei) เราจะเรียกพวกเขาว่า 先生 (sensei) เป็นสรรพนามบุรุษที่สอง แทนความหมายว่า “คุณ” ได้
先生の好きな食べ物は何ですか?
(Sensei no sukinatabemono wa nanidesu ka?)
คุณครูชอบอาหารอะไรคะ?
สรรพนามบุรุษที่สาม : ใช้ 先生 (sensei) แทนคำว่า “เขา,เธอ,พวกเขา,พวกเธอ”
เราสามารถใช้คำว่า 先生 (sensei) เพื่อหมายถึงคุณครูที่กำลังพูดถึง แทนความหมายว่า “เขา” หรือ “เธอ” ก็ได้
先生今日元気なかったよね。
(Sensei kyō genki nakatta yo ne.)
ท่าทางวันนี้คุณครู (Sensei) จะไม่สบาย
ใช้ 先生 (sensei) เป็นคำต่อท้ายหรือแทนชื่อ
คำว่า 先生 (sensei) สามารถใช้เป็นคำต่อท้ายเพื่อแสดงความให้เกียรติได้เช่นกัน เหมือนกับการเรียกหมอว่า “ดร.ซูซูกิ” หรือคุณครูของเราว่า “อาจารย์ริชชี่” เพียงเติมชื่อครูหรือหมอไว้ข้างหน้าคำว่า 先生 (sensei)
明日のヨガのインストラクターは、コウイチ先生です。
(Ashita no yoga no insutorakutā wa, kouichi senseidesu.)
ครูสอนโยคะวันพรุ่งนี้อาจจะเป็นอาจารย์โคอิจิ
หากมีครูหลายคนที่มีนามสกุลเดียวกันในโรงเรียน ในกรณีนี้ ครูบางคนจะใช้ชื่อเล่นหรือชื่อจริงแล้วตามด้วยคำว่า 先生 (sensei) เพื่อป้องกันความสับสน เช่นเดียวกัน เราอาจจะเรียกครูว่า 先生 เฉยๆ โดยไม่ต้องเติมชื่อของพวกเขาลงไปก็ได้
先生、締め切りまでに間に合いますか?
(Sensei, shimekiri made ni maniaimasu ka?)
อาจารย์คะ พอจะทันกำหนดส่งไหมคะ
ใช้คำว่า 先生 (sensei) เพื่อการเสียดสีเหน็บแนม
ในสังคมชาวญี่ปุ่นซึ่งให้คุณค่ากับความอ่อนน้อมถ่อมตน ผู้คนอาจจะใช้คำว่า 先生 (sensei) เพื่อเป็นการเหน็บแนมคนที่ชอบเสแสร้งหรือหยิ่งผยอง ซึ่งวิธีการเสียดสีแบบนี้จะใช้กับคนที่ไม่ได้เป็น 先生 (sensei) จริงๆ แต่คนๆ นั้นอาจจะเป็นคนชอบเจ้ากี้เจ้าการในที่ทำงาน เป็นต้น ซึ่งฟังดูหยาบคายดังนั้นควรระมัดระวังในการใช้
นอกจากนี้ เรายังสามารถใส่คำว่า “ใหญ่, ยิ่งใหญ่” 大 (Ō) (ใหญ่หรือยิ่งใหญ่) หน้าคำว่า 先生 (sensei) กลายเป็นคำว่า 大先生 (Ōsensei) ซึ่งมีความหมายว่า “คุณครูผู้ยิ่งใหญ่” จริงๆแล้วการพูดในลักษณะนี้ หากแปลตรงตัวจะฟังเหมือนเป็นการแสดงความเคารพมากขึ้น แต่ก็สามารถใช้เพื่อเหน็บแนมคนอื่นได้ด้วย
大先生の命令だから、絶対に従わないとね。
(Dai sensei no meireidakara, zettai ni shitagawanaito ne.)
เนื่องจากเป็นคำสั่งของอาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ เราก็ต้องปฏิบัติตามอย่างแน่นอนละนะ
先生 (sensei) กับการแสดงความรัก
คำว่า 先生 (sensei) อาจใช้เป็นวิธีพูดที่ปลอดภัยและฟังดูอบอุ่นในการหยอกล้อใครบางคนได้ เช่น เมื่อเด็กคนหนึ่งแสนรู้และพยายามจะสอนคุณถึงสิ่งต่างๆ (ซึ่งน่ารักมากๆ) เราอาจจะพูดว่า
エマ先生、積み木の遊び方を教えてくれてありがとうございます。
(Ema sensei, tsumiki no asobikata o oshiete kurete arigatōgozaimasu.)
ขอบคุณที่สอนเล่นบล็อกไม้นะคะ อาจารย์เอ็มม่า
บางคนอาจจะใช้คำว่า 先生 (sensei) ลงท้ายชื่อสัตว์เลี้ยงของพวกเขาด้วย โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงที่ดูร่าเริงและสนุกสนาน
การใช้คำว่า 先生 (sensei) กับสิ่งของ
ในปัจจุบัน วัยรุ่นญี่ปุ่นบางคนใช้คำว่า 先生 (sensei) เพื่อหมายถึงวัตถุไม่มีชีวิต ใช้เพื่อสร้างอารมณ์ขันให้กับสิ่งที่พวกเขาพูด การใช้คำว่า 先生(sensei) ลักษณะนี้ มักจะใช้กับสิ่งที่ช่วยเหลือคุณได้หลายอย่าง เช่น เสื้อผ้าแบรนด์ที่โปรดปราน ราเมนแบบถ้วย ร้านสะดวกซื้อ เป็นต้น
ありがとうファミマ先生(T∀T;)
(Arigatō famima sensei)
ขอบคุณเซ็นเซ (sensei) แฟมมิลี่ มาร์ท (T ∀ T; )
ทั้งหมดนี้เป็นการใช้คำว่าครูภาษาญี่ปุ่น ซึ่งหลายคนรู้จักกันดีว่าเป็นคำว่า 先生 (sensei) หวังว่าทุกคนจะใช้คำว่า 先生 (sensei) ได้อย่างถูกต้อง ทั้งในโรงเรียน ห้องเรียนภาษาญี่ปุ่น และการพูดคุยกับเพื่อชาวญี่ปุ่นในบทสนทนาภาษาญี่ปุ่นที่น่าสนใจในชีวิตประจำวัน