การโค้งคำนับแบบญี่ปุ่น
การโค้งคำนับแบบญี่ปุ่นหรือในภาษาญี่ปุ่นเองเรียกว่า
お辞儀
Ojigi
อ่านว่า โอจิหงิ
เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน นับเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่แสดงออกถึงวัฒนธรรมอันดีงามของชาวญี่ปุ่น และถือเป็นมารยาทสำคัญทางสังคมที่จำเป็นต้องเรียนรู้กันตั้งแต่ยังเด็ก การโค้งคำนับได้อย่างถูกต้องเหมาะสมยังเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงคุณภาพของการอบรมเลี้ยงดูอีกด้วย
โดยทั่วไปการโค้งคำนับแบบญี่ปุ่นนั้นจะมีสองรูปแบบ คือ
- แบบคุกเข่าโค้งคำนับ ในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า 座礼 (zarei)
- แบบยืนโค้งคำนับ หรือที่เรียกว่า 立礼 (ritsurei)
โดยทั้งสองแบบนั้นจะต้องยืดหลังตรงและก้มตัวลงตั้งแต่เอวขึ้นไปเช่นกัน
การได้ไปท่องเที่ยวหรือทำงานในประเทศญี่ปุ่น หากคุณเผอิญต้องเข้าไปถามทางภาษาญี่ปุ่นและโค้งคำนับตามธรรมเนียมของบ้านเค้า ก็ถือเป็นความน่ารักเล็กๆน้อยๆที่สามารถแสดงออกเพื่อสร้างความประทับใจให้กับชาวญี่ปุ่นได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องกังวลว่าเราจะทำผิดหรือถูก เพราะชาวญี่ปุ่นมักไม่ได้คาดหวังให้ชาวต่างชาติโค้งคำนับได้ถูกต้องตามกฎทุกกระเบียดนิ้วอยู่แล้ว
ทำไมคนญี่ปุ่นต้องโค้งคำนับ
การโค้งคำนับในประเทศญี่ปุ่นเป็นเรื่องสำคัญทั้งมิติเชิงสังคมและในเชิงธุรกิจ ในทางสังคม การโค้งคำนับที่ไม่ถูกต้องทำให้เกิดสถานการณ์ที่อึดอัดใจ หน้าอับอาย ส่วนในเชิงธุรกิจอาจจะทำให้คุณดูเป็นคนไร้ความสามารถ ถึงขนาดทำให้ข้อตกลงทางธุรกิจมีปัญหาเลยก็ว่าได้
สถานการณ์แบบใดที่ต้องโค้งคำนับ
การโค้งคำนับในประเทศญี่ปุ่นไม่ได้แสดงออกถึงการทักทายแต่เพียงอย่างเดียว การโค้งคำนับยังเป็นเรื่องของการแสดงออกทางสังคมแบบอื่นๆด้วย ยกตัวอย่างเช่น
- การทักทาย
- การบอกลา
- การเริ่มต้นหรือปิดท้ายการประชุม, การเรียนหรือพิธีกรรมต่างๆ
- แสดงความขอบคุณ, สำนึกบุญคุณ
- การขอโทษ
- การแสดงความยินดี
- การขอร้อง
- ความเคารพบูชาบุคคลหรือบางสิ่งบางอย่าง
- แสดงความเห็นอกเห็นใจ
- แสดงความซาบซึ้งใจ
- เพื่อเริ่มพิธีการที่เป็นทางการ
- เพื่อนำเข้าสู่หรือออกจากการแข่งขันศิลปะการต่อสู้
ยิ่งโค้งเคารพองศาสูงและนานแสดงถึงความสุภาพมากจริงหรือ?
การโค้งคำนับนานและมีระดับองศาสูง จะแสดงถึงความสุภาพมาก เมื่อมีการติดต่อกันเป็นครั้งแรก นักธุรกิจอาจจะแลกเปลี่ยนนามบัตร “MEISHI” กัน คนทั่วไปที่ไม่จำเป็นต้องแลกนามบัตรเมื่อทำความรู้จักก็อาจจะเพียงแค่กล่าวทักทาย และโค้งคำนับแสดงความเคารพกัน
การโค้งคำนับมาจากที่ไหน
ไม่มีคำตอบที่แน่ชัดว่าเหตุใดการโค้งคำนับจึงกลายเป็นเรื่องสำคัญในญี่ปุ่น อย่างไรก็ตามเชื่อกันว่าได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาพุทธ ในช่วงระหว่างศตวรรษที่ 5 ถึงศตวรรษที่ 8 การโค้งคำนับเป็นท่าทางที่แสดงออกถึงการสักการะและความเคารพในพระพุทธศาสนา และชนชั้นนักรบหรือซามูไรซึ่งเป็นชนชั้นที่ได้รับการยอมรับนับถือมากที่สุดในญี่ปุ่นมาเป็นเวลานาน ส่วนใหญ่จะประพฤติปฎิบัติตามพระธรรมวินัยของพุทธศาสนา นิกายเซน การโค้งคำนับของเหล่าซามูไรจึงเป็นต้นแบบการโค้งคำนับของชาวญี่ปุ่นมาจนถึงปัจจุบันและฝังรากลึกในวัฒนธรรมของชาวญี่ปุ่น
การโค้งคำนับกับการจับมือ (shaking hands)
ในบางกรณีระหว่างการพบปะกันเป็นครั้งแรก เช่น การประชุมทางธุรกิจ ชาวญี่ปุ่นจะใช้วิธีการจับมือแทนการโค้งคำนับ หรือบางครั้งก็มีทั้งการจับมือและการโค้งคำนับเกิดขึ้นพร้อมๆกัน ซึ่งการแสดงออกทั้งสองแบบต่างก็เป็นการแสดงถึงความเคารพต่ออีกฝ่ายเช่นกัน ในกรณีที่ไม่แน่ใจว่าควรจะจับมือหรือโค้งคำนับ มีคำแนะนำให้รอซักนิด เพื่อให้อีกฝ่ายเริ่มก่อน แล้วจึงทำตาม
การจับมือ (Handshakes) ในประเทศญี่ปุ่นจะมีความหมายมากกว่าทางตะวันตก การจับมือกันถือเป็นสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น และมักจะเห็นการจับมือกันในการเซ็นสัญญาหรือข้อตกลงระดับมหภาคหรือการควบรวมกิจการขนาดใหญ่
สำหรับวัฒนธรรมของประเทศญี่ปุ่น พึงระวังไว้เสมอว่าการจับเนื้อต้องตัวกันโดยไม่จำเป็นถือว่าไม่ถูกต้องเหมาะสม ด้วยเหตุผลดังกล่าว การกอดหรือการไฮไฟว์ (high five) จึงไม่ใช่เรื่องปกติโดยเฉพาะในที่ทำงาน
เมื่อรู้แล้วว่าการโค้งคำนับสำคัญในวัฒนธรรมญี่ปุ่นอย่างมาก คุณสามารถเรียนรู้วิธีโค้งคำนับแบบต่างๆ จากครูภาษาญี่ปุ่นที่ตั้งใจรวบรวมวิธีการโค้งคำนับทั้งหมดมาให้คุณได้ฝึกทำ และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้องกันเลย
วิธียืนโค้งคำนับแบบญี่ปุ่น — 立礼 (ritsurei)
วิธียืนโค้งคำนับแบบญี่ปุ่น หรือ 立礼 (ritsurei) จะมี 3 รูปแบบ ได้แก่
- 会釈 (eshaku) โค้ง 15 องศา ใช้ในการทักทายทั่วไป ถามทุกข์สุขภาษาญี่ปุ่น ใช้กับผู้ที่อยู่ในระดับเดียวกัน
- เ敬礼 (keirei) โค้ง 30 องศา จะใช้บ่อยสุด เช่นการทำความเคารพเจ้านาย
- 最敬礼 (saikeirei) โค้ง 45-70 องศา ใช้ในพิธีกรรม ใช้กับผู้อาวุโส ส่วนใหญ่ใช้ในกรณีขอบคุณหรือขอโทษ เพื่อแสดงถึงความจริงใจ
ทั้งสามรูปแบบนี้จะแตกต่างกันที่ท่าทางและการบังคับกล้ามเนื้อของร่างกาย ไม่ว่าจะโค้งคำนับแบบใด หลังต้องยืดตรง ตั้งแต่สะโพกลงไปต้องตั้งตรง ให้สะโพกอยู่ที่เดิมถึงแม้จะก้มตัวลงไปก็ตาม
การเคลื่อนไหวขณะโค้งคำนับจะต้องให้สอดคล้องกับจังหวะปกติของลมหายใจ เมื่อก้มตัวลงไปในตำแหน่งที่โค้งคำนับจะต้องใช้เวลานานเท่ากับจังหวะลมหายใจเข้าหนึ่งครั้ง และค้างท่านั้นไว้เป็นเวลาเท่ากับจังหวะหายใจออกหนึ่งครั้งแล้วจึงกลับคืนสู่ท่าเดิมในอีกหนึ่งจังหวะลมหายใจเข้า จังหวะเวลาตามลมหายใจนี้ถือเป็นเวลาที่เหมาะสม การเคลื่อนไหวจะดูเป็นธรรมชาติ ไม่ดูรีบร้อนจนเกินไปและไม่เสียสมดุลของร่างกายด้วย
โค้ง 15 องศา — 会釈 (eshaku)
การโค้งคำนับลักษณะนี้ เราจะพับตัวส่วนบนลงมาประมาณ 15 องศาจากแกนตั้ง สายตาจะมองไปยังพื้นด้านหน้าห่างจากเท้าตัวเองไปประมาณ 3 เมตร รูปแบบเอะซากุนี้เป็นแบบสบายๆ ไม่มีพิธีรีตอง โดยปกติจะทำระหว่างบุคคลที่มีสถานะเดียวกัน เช่น การเจอกันโดยบังเอิญในร้านค้า เป็นต้น
โค้ง 30 องศา — เ敬礼 (keirei)
รูปแบบการโค้งคำนับนี้ เราจะก้มลำตัวส่วนบนลงประมาณ 30 องศาจากแกนตั้ง สายตาจะมองไปที่พื้นด้านหน้าห่างออกไปราวๆ หนึ่งเมตร เราจะเห็นการโค้งคำนับแบบเคอิเรมากที่สุดในสังคมธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการพบปะลูกค้า การเข้าประชุมหรือการปฏิสัมพันธ์กับหัวหน้างาน เป็นต้น
โค้ง 45-70 องศา — 最敬礼 (saikeirei)
เป็นการโค้งคำนับที่ต้องพับลำตัวส่วนบนลงไปประมาณ 45-70 องศาจากแกนตั้ง เป็นการแสดงออกถึงความเคารพอย่างสูงสุดต่อบุคคลอื่น ใช้ในสถานการณ์ต่างๆ เช่น การทักทายบุคคลสำคัญ การกล่าวคำขอโทษหรือการร้องขอความช่วยเหลือ และการโค้งคำนับลักษณะนี้สื่อถึงความสำคัญของบุคคลที่เราปฎิสัมพันธ์ด้วย ดังนั้นจึงต้องค้างท่าโค้งคำนับนี้ให้นานกว่าปกติ เพื่อแสดงถึงความเคารพและความจริงใจด้วย
ตำแหน่งการวางมือ
สำหรับผู้ชาย ไม่ว่าจะโค้งคำนับแบบใด มือทั้งสองข้างจะวางอยู่ข้างลำตัว ข้างขาทั้งสองข้าง สำหรับผู้หญิงจะวางมือทับกันและวางไว้ตรงจุดกึ่งกลางของลำตัวหรือใต้หน้าท้อง
วิธีคุกเข่าโค้งคำนับแบบญี่ปุ่น — 座礼 (zarei)
座礼 (zarei) เป็นการโค้งคำนับในท่านั่งที่เป็นทางการ โดยปกติจะเริ่มจากนั่งบนพื้นที่ปูเสื่อญี่ปุ่นตาตามิ เรียกท่านั่งนี้ว่า 正座 (seiza) การนั่งแบบนี้จะเริ่มจากการยืนแล้วคุกเข่าลงไปทีละข้าง วางหลังเท้าให้ราบไปกับพื้น นิ้วเท้าชี้ตรงไปด้านหลัง แล้วนั่งลงบนน่องหรือส้นเท้า ปล่อยแขนลงด้านข้างลำตัว คว่ำฝ่ามือลงบนต้นขาหรือหน้าตัก นั่งหลังตรงที่สุดเท่าที่จะทำได้ หากคุณนั่งได้ถูกต้องก็จะได้รับคำชื่นชม
เมื่อวัฒนธรรมตะวันตกเริ่มเข้ามามากขึ้น การโค้งคำนับลักษณะนี้จึงไม่ได้พบเห็นกันทั่วไป มักพบในกิจกรรมรูปแบบดั้งเดิม เช่น ศิลปะการต่อสู้, พิธีชงชา และระบำญี่ปุ่น เป็นต้น การโค้งคำนับในท่านั่งก็มีหลายรูปแบบเช่นเดียวกับการโค้งคำนับในท่ายืนเช่นกัน
วิธีคุกเข่าโค้งคำนับแบบญี่ปุ่นมี 4 แบบดังต่อไปนี้
- 最敬礼 (saikeirei)
- 普通礼 (futsurei)
- 浅礼 (senrei)
- 土下座 (dogeza)
ต่อไปนี้มาดูกันว่าการนั่งคุกเข่าโค้งคำนับมีวิธีทำอย่างไรบ้าง
นั่งคุกเข่าโค้งคำนับ 最敬礼 (saikeirei)
การโค้งคำนับแบบ 最敬礼 (saikeirei) จะเริ่มจากท่านั่ง 正座 (seiza) ซึ่งเป็นท่านั่งเริ่มต้น จากนั้นก้มลำตัวส่วนบนลงจนหน้าอกกดทับลงบนหน้าตัก ระหว่างการโค้งคำนับ มือทั้งสองจะเลื่อนไปด้านหน้าตามต้นขาจนกระทั่งหยุดแล้ววางบนพื้นห่างจากหัวเข่าออกไปประมาณ 7 เซนติเมตร และใบหน้าจะอยู่ห่างจากพื้นราวๆ 5 เซนติเมตร ฝ่ามือของคุณควรจะวางอยู่บนพื้นให้อยู่ในรูปสามเหลี่ยม
การโค้งคำนับแบบ 最敬礼 (saikeirei) ถือเป็นรูปแบบที่เป็นทางการมากที่สุด ดังนั้นต้องใช้เวลาพอสมควรในการโค้งคำนับเพื่อเป็นการแสดงความเคารพและความจริงใจ
นั่งคุกเข่าโค้งคำนับ 普通礼 (futsurei)
ลักษณะการโค้งแบบนี้ ลำตัวจะก้มต่ำลงมาจนใบหน้าอยู่ห่างจากพื้นประมาณ 30 เซนติเมตรและฝ่ามือวางอยู่ในรูปสามเหลี่ยมใต้ใบหน้า การโค้งคำนับแบบ 普通礼 (futsurei) จะพบได้ในสถานการณ์ที่เป็นทางการทั่วไปหรือกิจกรรมตามประเพณี
นั่งคุกเข่าโค้งคำนับ 浅礼 (senrei)
เป็นท่านั่งแบบสบายๆที่ใช้ในชีวิตประจำวันและในสถานการณ์ทั่วไปที่ไม่เป็นทางการ เราไม่จำเป็นต้องวางฝ่ามือบนพื้นเป็นรูปสามเหลี่ยม ซึ่งตรงข้ามกับการนั่งโค้งคำนับแบบอื่นๆ การโค้งคำนับแบบ 浅礼 (senrei) ลำตัวส่วนบนจะก้มต่ำลงมาประมาณ 30 องศา มือของคุณจะเลื่อนลงไปตามต้นขาจนถึงหัวเข่า มีเพียงนิ้วชี้เท่านั้นที่แตะถึงพื้น
นั่งคุกเข่าโค้งคำนับ 土下座 (dogeza)
การโค้งคำนับแบบ 土下座 (dogeza) นั้นไม่ค่อยมีให้เห็นโดยทั่วไปนัก และถูกใช้ในสถานการณ์ที่ร้ายแรงมากเท่านั้น เช่น เมื่อทำผิดพลาด การร้องขอชีวิต เป็นต้น การทำโดะเกะสะมักถูกมองว่าเป็นการแสดงออกถึงการดูถูกตัวเอง เมื่อทำ 土下座 (dogeza) ใบหน้าจะวางสัมผัสกับพื้นดินในขณะที่คุกเข่าทั้งสองข้างและวางมือทั้งสองลงกับพื้นพร้อมๆกัน
แข่งกันโค้งคำนับ
การแสดงออกด้วยความสุภาพและความเคารพซึ่งกันและกัน เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในวัฒนธรรมของญี่ปุ่น จนบางครั้งเราจึงเห็นการโค้งคำนับให้กันไม่หยุดเหมือนทั้งสองฝ่ายกำลังแข่งกันอยู่ โดยเฉพาะในผู้ที่มีสถานะทางสังคมเท่าๆกัน พวกเขาจะรู้สึกว่าเมื่อมีใครโค้งคำนับให้ จะต้องโค้งคำนับกลับตามจำนวนที่ได้รับมา และทำไปแบบนั้นจนกว่าการเคลื่อนไหวของทั้งสองฝ่ายจะค่อยๆหยุดไปเอง แล้วจึงทำกิจกรรมอื่นต่อไป
ควรจำไว้สักนิดว่า หากคู่สนทนาหรือคนกำลังปฏิสัมพันธ์อยู่ยืนใกล้กับเรามาก เราจำเป็นต้องเบี่ยงตัวแล้วก้มไปด้านข้างเล็กน้อยเพื่อไม่ให้ศีรษะชนกัน
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ เราก็ได้ทราบถึงความหมายและความสำคัญของการโค้งคำนับในประเทศญี่ปุ่น รวมไปถึงเทคนิคและวิธีที่ทำให้เราโค้งคำนับได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม นอกจากเรียนรู้ประโยคภาษาญี่ปุ่นพื้นฐานแล้ว การเรียนรู้วิธีกล่าวคำอวยพรต่างๆ ในภาษาญี่ปุ่น เช่นอวยพรวันเกิดภาษาญี่ปุ่น หรืออวยพรวันปีใหม่ภาษาญี่ปุ่นก็จะช่วยให้คุณสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับคนญี่ปุ่นได้อย่างมาก หรือจะเป็นการกล่าวขอให้เป็นวันที่ภาษาญี่ปุ่นเพื่อบอกลา หรือการบอกโชคดีนะภาษาญี่ปุ่นซึ่งมีหลายวิธีให้เลือกใช้ตามระดับความเหมาะสม ทักษะเหล่านี้จะมีประโยชน์ในการสร้างความสัมพันธ์อันดีและสร้างความประทับใจให้แก่คนญี่ปุ่นได้อย่างแน่นอน