คำนำหน้านามภาษาอังกฤษ (Determiner) คืออะไร มีอะไรบ้าง วิธีการใช้

บทเรียนนี้เราจะมาเรียนเกี่ยวกับคำนำหน้านาม (English Determiners) เช่น a, an, the, all, few, each เป็นต้น ซึ่งเป็นคำที่มีความสำคัญในการสร้างประโยคภาษาอังกฤษที่ถูกต้องและเข้าใจง่าย เหมาะสำหรับทั้งผู้เริ่มเรียนภาษาอังกฤษและผู้ที่ต้องการมีความมั่นใจในการพูดประโยคภาษาอังกฤษที่ถูกต้องมากขึ้น

คำนำหน้านาม (Determiner) ภาษาอังกฤษ คืออะไร

Determiner คือคำนำหน้าคำนาม จะถูกวางไว้หน้าคำนามเสมอ ใช้เพื่อชี้เฉพาะ บอกจำนวน ปริมาณ หรือแสดงความเป็นเจ้าของ ซึ่งมีแยกไปอีกหลากหลายคำ การเรียน determiners ชนิดต่างๆ และวิธีการใช้ที่ถูกต้องมีความสำคัญในการสร้างประโยคในภาษาอังกฤษ

คำนำหน้านาม (Determiner) มีกี่ชนิด

Determiner ภาษาอังกฤษ มีทั้งหมด 7 ชนิด ได้แก่

  1. Articles หรือ ”คำนำหน้านาม“
  2. Demonstrative determiners หรือ “คำนำหน้านามบ่งชี้เฉพาะเจาะจง”
  3. Distributive derminers หรือ ”คำนำหน้านามแบ่งแยก“ หรือ “คำนำหน้านามแยกส่วน”
  4. Interrogative determiners หรือ “คำนำหน้านามตั้งคำถาม”
  5. Possessive determiners หรือ “คำนำหน้านามแสดงความเป็นเจ้าของ”
  6. Quantifying determiners and Number หรือ “คำนำหน้านามบอกปริมาณและจำนวน”
  7. Relative determiners หรือ “คำนำหน้าบ่งชี้สัมพัทธ์”

คำนำหน้านาม (Determiner) แต่ละชนิดมีหน้าที่และการใช้งานที่แตกต่างกันดังนี้

1. คำนำหน้านาม (Articles)

Articles เป็นคำนำหน้านาม (Determiner) ที่ใช้บอกว่าคำนามนั้นเป็นนามเฉพาะเจาะจงหรือไม่เฉพาะเจาะจง ในภาษาอังกฤษมีทั้งหมด 3 คำ คือ

  1. a
  2. an
  3. the

แต่ละคำมีวิธีการใช้งานและความหมายที่ต่างกันออกไปดังต่อไปนี้

  • a” — ใช้กับคำนามเอกพจน์ทั่วไปที่ไม่ได้เจาะจง และมีการออกเสียงขึ้นต้นเป็นเสียงพยัญชนะ (Consonant Sound) เช่น
    • a car — รถหนึ่งคัน
    • a book — หนังสือหนึ่งเล่ม
    • a university — มหาวิทยาลัยหนึ่งแห่ง
  • an” — ใช้กับคำนามเอกพจน์ที่ไม่ได้เฉพาะเจาะจง และมีการออกเสียงขึ้นต้นด้วยสระ (Vowel Sound) เช่น
    • an apple — แอปเปิ้ลหนึ่งลูก
    • an hour— หนึ่งชั่วโมง
    • an honest person — คนซื่อสัตย์หนึ่งคน
  • the” — ใช้กับคำนามที่เฉพาะเจาะจง (รู้อยู่แล้วว่าเป็นสิ่งไหน) ชื่อของสถานที่/สิ่งที่มีอยู่เพียงอย่างเดียว ใช้ได้กับทั้งคำนามเอกพจน์และพหูพจน์ และใช้ “the” เมื่อกล่าวถึงคำนามที่กล่าวไปแล้วในบทสนทนา เช่น
    • the sun — พระอาทิตย์
    • The United Kingdom — สหราชอาณาจักร
    • The Pacific Ocean — มหาสมุทรแปซิฟิก เป็นต้น

2. คำนำหน้านามบ่งชี้เฉพาะเจาะจง (Demonstrative determiners)

วิธีใช้คำบ่งชี้เฉพาะเจาะจงจะขึ้นอยู่กับจำนวนของสิ่งนั้นๆ และระยะห่างระหว่างผู้พูดกับสิ่งที่กำลังพูดถึง คำนำหน้าแบบบ่งชี้เฉพาะเจาะจงมีทั้งหมด 4 คำได้แก่ “this”, “that”, “these” และ “those

  • This (สิ่งนี้) — ใช้กับคำนามเอกพจน์ และอยู่ใกล้ตัวผู้พูด เช่น
    • This book is interesting. — หนังสือเล่มนี้น่าสนใจ (หนังสือเล่มเดียว วางอยู่ใกล้ตัวผู้พูด)
  • That (สิ่งนั้น) — ใช้กับคำนามเอกพจน์ และอยู่ไกลตัวผู้พูด เช่น
    • I want that bag. — ฉันอยากได้กระเป๋าใบนั้น (กระเป๋าใบเดียว วางอยู่ไกลตัวผู้พูด)
  • These (สิ่งเหล่านี้) — ใช้กับคำนามพหูพจน์ และอยู่ใกล้ตัวผู้พูด เช่น
    • These flowers are beautiful. — ดอกไม้เหล่านี้สวย (ดอกไม้หลายดอก อยู่ใกล้ผู้พูด)
  • Those (สิ่งเหล่านั้น) — ใช้กับคำนามพหูพจน์ และอยู่ไกลตัวผู้พูด เช่น
    • Those dogs are loud. — หมาเหล่านั้นเสียงดัง (หมาหลายตัว อยู่ไกลตัวผู้พูด)

3. คำนำหน้านามแบ่งแยก (Distributive determiners)

คำนำหน้านามนี้ใช้บอกว่าสิ่งของนั้นอยู่แยกกัน หรืออยู่รวมกัน คำนำหน้านามที่ใช้แบ่งแยกที่สำคัญ และพบได้บ่อย มีดังต่อไปนี้

  • Each (แต่ละ) — ใช้กับคำนามเอกพจน์ ใช้เมื่อแต่ละสิ่งในกลุ่ม แยกออกจากกัน เช่น
    • Each day brings new opportunities. — แต่ละวันนำโอกาสใหม่ๆ มาให้ (พูดวันในแต่ละวัน)
  • Every (ทุกๆ) — ใช้กับคำนามเอกพจน์ แต่อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม และมีคุณสมบัติบางอย่างที่เหมือนกัน เช่น
    • Every student needs to study. — นักเรียนทุกคนจำเป็นต้องเรียน (นักเรียนแต่ละคนเป็นเอกพจน์ แต่รวมกันเป็นกลุ่ม และทุกคนเป็นนักเรียนเหมือนกัน)
  • Either (อย่างใดอย่างหนึ่ง) — ใช้กับคำนามเอกพจน์ หมายถึงอย่างใดอย่างหนึ่งในสองสิ่งนั้น เช่น
    • Either option is fine with me. — ตัวเลือกใดตัวเลือกหนึ่งก็ได้สำหรับฉัน
  • Neither (ไม่ใช่ทั้งสอง) — ใช้กับคำนามเอกพจน์ ที่ไม่ต้องการเลือกทั้งสองสิ่งนั้น, ไม่ใช่ หรือ ไม่เห็นด้วยกับทั้งคู่ เช่น
    • Neither answer is correct. — ไม่มีคำตอบไหนถูกต้อง
  • All (ทั้งหมด) — ใช้กับคำนามนับไม่ได้ และคำพหูพจน์ ใช้เพื่อเน้นภาพรวมของทั้งกลุ่ม ไม่มีใคร หรือส่วนใดแยกออกมา เช่น
    • I like all dogs. —ฉันชอบหมาทุกตัว

4. คำนำหน้านามตั้งคำถาม (Interrogative determiners)

เป็นคำนำหน้านามที่ใช้ตั้งคำถาม หรือหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับคำนาม โดยจะวางไว้หน้าคำนามที่ต้องการถามหรือต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติม คำนำหน้านามตั้งคำถามที่พบบ่อยมี 3 คำ คือ “which”, “what” และ “whose

  • Which (อันไหน, สิ่งไหน) — ใช้ได้กับทั้งคำนามนับได้และคำนามนับไม่ได้ จะใช้เมื่อต้องการเลือกอันใดอันหนึ่งจากคำนามที่กำหนดให้ เช่น
    • Which book do you prefer? — หนังสือเล่มไหนที่คุณชอบ (เลือกหนังสือมาเล่มหนึ่ง)
  • What (อะไร) — ใช้ได้กับทั้งคำนามนับได้และนับไม่ได้ ใช้เมื่อต้องการสอบถามแบบกว้างๆ เกี่ยวกับคำนามนั้นโดยไม่ได้ระบุเจาะจงคุณสมบัติอื่น เช่น
    • What food do you like? — คุณชอบอาหารอะไร (ไม่ได้เจาะจงประเภทของอาหารที่ต้องเลือก)
  • Whose (ของใคร) — ใช้กับคำนามเอกพจน์และพหูพจน์ และใช้สอบถามเกี่ยวกับความเป็นเจ้าของ เช่น
    • Whose bag is this? — กระเป๋าใบนี้ของใคร (ถามหาเจ้าของกระเป๋าใบดังกล่าว)

5. คำนำหน้านามแสดงความเป็นเจ้าของ (Possessive determiners)

เป็นคำนำหน้านามที่ใช้แสดงความเป็นเจ้าของ หรือความสัมพันธ์ระหว่างผู้พูดกับคำนามที่ตามหลังมา เราจะวางคำนำหน้านามประเภทนี้ไว้หน้าคำนามที่เราต้องการแสดงความเป็นเจ้าของเสมอ โดยจะเลือกใช้คำให้สอดคล้องกับผู้เป็นเจ้าของ ไม่ใช่ใช้ตามคำนามที่ตามหลัง

คำนำหน้านามแสดงความเป็นเจ้าของ (Possessive determiners) มีทั้งหมด 7 คำดังต่อไปนี้

บุรุษสรรพนามPossessive determinerคำแปลภาษาไทย
Imyของฉัน
youyourของคุณ
hehisของเขา (ผู้ชาย)
sheherของเธอ
ititsของมัน
weourของพวกเรา
theytheirของพวกเขา

ตัวอย่าง

  • These are my pencils. — ปากกาเหล่านี้เป็นของฉัน (ปากกาหลายแท่ง)
  • They sold their house. — พวกเขาขายบ้านของพวกเขา

6. คำนำหน้านามบอกปริมาณและจำนวน (Quantifying determiners and number)

ใช้บอกปริมาณหรือจำนวนของคำนามให้ทราบว่ามีจำนวนมากน้อยแค่ไหน หากต้องการระบุปริมาณเฉพาะ เช่น หนึ่ง, สอง, สาม เป็นต้น จะใช้ตัวเลข (number) นำหน้านาม แต่หากต้องการบอกว่ามีปริมาณมาก/น้อย จะใช้คำบอกปริมาณ (Quantifying)

เราสามารถแบ่งการใช้งานตามประเภทของคำนามได้ดังนี้

ตัวเลขนำหน้านาม (Number)

  • จำนวนนับได้ (Cardinal Numbers) เช่น
    • one
    • two
    • three
  • ตัวเลขลำดับ (Ordinal Numbers) เช่น
    • first
    • second
    • third

คำนำหน้านามบอกปริมาณ (Quantifying)

  • ใช้กับคำนามนับได้ (Countable Nouns) ใช้กับคำนามพหูพจน์
    • Many เช่น many books — หนังสือหลายเล่ม
    • A few เช่น a few friends — เพื่อนสองสามคน
    • Few เช่น few cars — รถไม่กี่คัน
    • Several เช่น several options — ตัวเลือกหลายอย่าง
  • ใช้กับคำนามนับไม่ได้ (Uncountable Nouns)
    • Much เช่น much water — ปริมาณน้ำมาก
    • A little เช่น a little sugar — น้ำตาลปริมาณเล็กน้อย
    • Little เช่น little time — เวลาน้อย
  • ใช้ได้กับทั้งคำนามนับได้และนับไม่ได้
    • Some มัเช่น some information — ข้อมูลบางส่วน
    • Any เช่น any questions — คำถามใดๆ
    • No เช่น no evidence — ไม่มีหลักฐาน
    • All เช่น all children — เด็กทุกคน
    • Most เช่น most people — คนส่วนใหญ่
    • Enough เช่น enough time — เวลาเพียงพอ

7. คำนำหน้าบ่งชี้สัมพัทธ์ (Relative determiners)

เป็นคำนำหน้านามที่ใช้ในประโยค Relative clause เพื่อเชื่อมคำนามกับส่วนเติมเต็ม โดยทำหน้าที่เป็นตัวกำหนดคำนามในอนุประโยคนั้นๆ ได้แก่

  • whose (…ของใคร) — ใช้เมื่อคำนามนั้นเป็นของใครคนหนึ่ง เช่น
    • I know whose car you stole. — ฉันรู้นะว่ารถของใครที่คุณขโมยมา
  • which/whichever (…อันไหน/สิ่งไหน) — ใช้เมื่อต้องเลือกอันใดอันหนึ่งจากคำนามที่กำหนด เช่น
    • I don’t know which bag you are referring to. — ฉันไม่รู้ว่าคุณกำลังพูดถึงกระเป๋าใบไหน
  • what /whatever (อะไรก็ได้) — ใช้เมื่อไม่ต้องการระบุแบบเฉพาะเจาะจงสำหรับคำนามนั้นเลย เช่น
    • What book to buy doesn’t matter. — จะซื้อหนังสือเล่มไหนก็ไม่สำคัญหรอก

ข้อควรจำ

คำนำหน้านามบ่งชี้สัมพัทธ์จะต้องตามด้วยคำนามหรือประโยคที่ทำหน้าที่เป็นคำนามเสมอ หากเราพบคำ whose, which, what ที่ไม่ได้มีคำนามตามหลัง คำว่า whose, which, what เหล่านั้นมักเป็นสรรพนามภาษาอังกฤษที่ใช้ในประโยคคำถาม

อัพเดทล่าสุด: