10 เทคนิควิธีสอนออนไลน์

เนื่องจากจำนวนนักเรียนที่ต้องการเปลี่ยนจากเรียนตัวต่อตัวมาเรียนออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ ผู้สมัครเป็นติวเตอร์หรือครูสอนพิเศษจึงต้องเปลี่ยนจากสอนตัวต่อตัวมาสอนออนไลน์กันมากขึ้นไปด้วย แม้ว่าการสอนออนไลน์จะมีข้อดีมากมาย แต่ก็มีความแตกต่างจากการเรียนตัวต่อตัวและมีข้อจำกัดอยู่เช่นกัน ดังนั้นนอกจากหางานสอนพิเศษได้แล้ว ผู้สอนยังต้องวางแผนการสอนออนไลน์อย่างรัดกุมก่อนเริ่มสอนจริง

1. ทำความรู้จักเครื่องมือการสอน

ตกลงกับนักเรียนว่าเครื่องมือที่คุณจะใช้ในการเรียนการสอนคืออะไรบ้าง เช่น Zoom, Google Meet, Google Docs, Google Slides เป็นต้น และเรียนรู้วิธีใช้มันให้ดี นอกจากนั้นคุณควรแน่ใจว่านักเรียนเองก็เข้าใจวิธีการใช้งานเครื่องมือเหล่านี้ด้วยเช่นกัน

2. รู้วิธีแก้ปัญหาล่วงหน้า

บางครั้งเครื่องมือการสอนที่คุณใช้อาจเกิดความขัดข้อง หรือไม่สามารถใช้งานได้ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายผู้สอน หรือฝ่ายนักเรียนก็ตาม คุณควรมีแผนรับมือสำหรับเหตุการณ์เช่นนี้ไว้ด้วย

3. บันทึกวิดีโอ

การบันทึกวิดีโอแทนการสอนสด ทำให้นักเรียนสามารถย้อนกลับมาดูวิดีโอการสอนได้อีกหากพวกเขาไม่เข้าใจเนื้อหาที่เรียนไปแล้ว

4. วิดีโอไม่ควรยาวเกินไป

วิดีโอการสอนไม่ควรยาวเกินวิดีโอละ 15 นาที เพื่อช่วยให้เนื้อหารัดกุม และไม่ให้นักเรียนรู้สึกเบื่อหน่ายเสียก่อน หากเนื้อหาที่คุณสอนมีเนื้อหาเยอะ คุณควรแยกออกเป็นหัวข้อย่อยๆ และทำวิดีโอแยกออกมาเป็นแต่ละวิดีโอแทนจะดีกว่า

5. ใช้สื่อการเรียนที่เข้าถึงง่าย

หากคุณทำสื่อการเรียนการสอนที่มีคุณภาพด้วยตัวเองได้ก็เป็นเรื่องที่ดี อย่างไรก็ตาม มีสื่อการเรียนการสอนที่ฟรีและมีคุณภาพมากมายบนอินเตอร์เน็ต ก่อนที่คุณจะส่งลิ้งค์สื่อการเรียนสอนใดๆ ไม่ว่าจะเป็นไฟล์รูปภาพ หรือวิดีโอให้นักเรียน คุณควรตรวจสอบให้แน่ใจว่านักเรียนของคุณสามารถเข้าถึงสื่อนั้นๆได้อย่างไม่ติดขัด

6. เช็คสไลด์การสอน

หากคุณทำสไลด์นำเสนอ (Presentation) ตรวจสอบขนาดตัวอักษรบนสไลด์ว่ามีขนาดเล็กเกินไปหรือไม่ หากนักเรียนเปิดดูสไลด์ชองคุณบนมือถือ หรืออุปกรณ์ที่มีหน้าจอขนาดเล็ก

7. แสดงหน้าผู้สอน

จริงที่เนื้อหาการเรียนทั้งหมดอยู่บนสไลด์การสอนและสื่อการสอนที่คุณเตรียมมา แต่การแสดงหน้าของผู้สอนสลับกับสไลด์การสอน หรือแสดงพร้อมกัน จะช่วยให้ผู้เรียนโฟกัสกับการเรียนได้มากยิ่งขึ้น และให้ความรู้สึกว่าผู้เรียนกำลังเรียนกับครูอยู่ ไม่ใช่เพียงแค่นั่งดูวิดีโอเท่านั้น

8. มีเป้าหมายการเรียนที่ชัดเจน

ผู้สอนควรแจ้งเป้าหมายการเรียนในแต่ละครั้งให้นักเรียนเข้าใจอย่างชัดเจน เพื่อให้นักเรียนเข้าใจว่าสิ่งที่พวกเขาควรจะได้รับในการเรียนแต่ละครั้งมีอะไรบ้าง นอกจากนั้นการตกลงเป้าหมายการเรียนในแต่ละครั้งยังช่วยให้ทั้งผู้สอนและนักเรียนติดตามได้ว่านักเรียนได้บรรลุเป้าหมายการเรียนของแต่ละครั้งหรือไม่

9. ส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ของนักเรียน

ผู้สอนควรซักถาม หรือเปิดโอกาสให้นักเรียนได้พูด หรือแสดงความคิดเห็นอยู่เสมอ เพื่อทำความเข้าใจว่านักเรียนเข้าใจและตามทันเนื้อหาที่กำลังสอนหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณไม่สามารถสังเกตุสีหน้าและท่าทางของผู้เรียนได้เหมือนเรียนตัวต่อตัว

10. ผลตอบรับหลังการเรียน

เปิดให้นักเรียนได้แสดงความคิดเห็น หรือฟีดแบ็คในการเรียนแต่ละครั้งว่ามีอะไรควรปรับปรุงในการเรียนการสอนครั้งหน้าหรือไม่

อัพเดทล่าสุด: