6 เทคนิคสอนพิเศษให้สนุก ถูกใจนักเรียน
การจัดการเรียนการสอนที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างมีความสุขจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพและเติมเต็มศักยภาพสูงสุดของผู้เรียน ติวเตอร์ที่ประสบความสำเร็จมักมีวิธีการสอนที่สนุกสนาน สามารถดึงดูดความสนใจของผู้เรียน และยังต้องสามารถอธิบายเนื้อหาที่ยากๆให้เข้าใจได้ง่ายผ่านสื่อการสอนที่หลากหลายอย่าง ไม่น่าเบื่อ ติวเตอร์ที่ดีจึงควรหมั่นหาเทคนิคหรือวิธีการที่ช่วยเติมสีสันให้กับการสอนอยู่เสมอ
รู้ว่านักเรียนชอบอะไร
การทำความรู้จักผู้เรียนให้มากขึ้นนอกเหนือจากรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับการเรียน เช่น นักเรียนมีงานอดิเรกอะไรที่มักจะทำในเวลาว่าง มีความชอบหรือความสนใจอะไรเป็นพิเศษ ฯลฯ สิ่งต่างๆเหล่านี้ติวเตอร์สามารถนำมาปรับใช้ให้เข้ากับเรื่องที่จะสอนหรือประยุกต์ใช้เป็นสื่อการสอนเพื่อเพิ่มความน่าสนใจของผู้เรียนได้ ยกตัวอย่างเช่น ติวเตอร์สอนภาษาอังกฤษอาจจะนำตัวละครในหนังสือการ์ตูนที่เด็กชอบมาเป็นตัวอย่างในบทเรียน หรือถ้านักเรียนชอบทำอาหาร ติวเตอร์อาจจะสอนคำศัพท์หรือสอนการใช้ประโยคต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำอาหาร เป็นต้น
สร้างความไว้ใจ
ความท้าทายอย่างหนึ่งของการเป็นติวเตอร์ คือ การสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกันระหว่างติวเตอร์กับผู้เรียน เมื่อผู้เรียนเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจก็จะทำให้บรรยากาศการเรียนผ่อนคลาย ไม่เคร่งเครียด ดังนั้นทั้งสองฝ่ายควรจะเปิดใจคุยกัน ควรเริ่มบทสนทนาโดยไม่พูดถึงปัญหาก่อน แต่อาจเริ่มจากติวเตอร์เป็นผู้เปิดบทสนทนาด้วยคำถามปลายเปิดอื่นๆ จากนั้นรับฟังสิ่งที่นักเรียนพูด ไม่ตัดสินถูกผิดเมื่ออีกฝ่ายแสดงความคิดเห็น พยักหน้าเมื่อคุณเห็นด้วย สบตาเวลารับฟัง สิ่งต่างๆเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจที่มีต่อนักเรียน นักเรียนจะรับรู้ได้และเชื่อใจคุณในที่สุด
มีช่วงพักระหว่างสอน
การเรียนอย่างต่อเนื่องโดยไม่หยุดพัก อาจจะทำให้ผู้เรียนรู้สึกเหนื่อยล้าและขาดสมาธิในบทเรียน ดังนั้นติวเตอร์จึงควรให้มีการพักระหว่างคาบเรียน ซึ่งความยาวและความถี่ของการพักขึ้นอยู่กับอายุของผู้เรียน ยิ่งผู้เรียนอายุน้อยเท่าไหร่ สมาธิหรือความสนใจจะสั้นลงเท่านั้น เนื้อหาหรือกิจกรรมที่เรียนก็มีผลเช่นกัน ยิ่งเนื้อหาที่เข้มข้นขึ้น ก็ทำให้ผู้เรียนอ่อนล้าได้มากขึ้น ทั้งนี้ติวเตอร์จะต้องพิจารณาเวลาและจังหวะในการพักให้เหมาะสมกับผู้เรียน โดยที่ติวเตอร์สามารถหยุดพักโดยการจัดกิจกรรม เล่นเกมหรือเล่านิทานคั่นเวลา แทนการพูดคุยหรือพักดื่มน้ำตามปกติก็ได้
ใช้สื่อการสอนอื่นๆร่วมกับหนังสือเรียน
ไม่ใช่นักเรียนทุกคนที่เข้าใจเนื้อหาต่างๆจากการอ่านในหนังสือเรียน แต่การเรียนการสอนด้วยหนังสือเรียนยังคงเป็นสื่อการสอนหลักที่ถูกใช้ในในโรงเรียนส่วนใหญ่ สำหรับติวเตอร์สอนพิเศษ ควรเข้าใจว่านักเรียนต้องการเรียนกับคุณเนื่องจากหลายสาเหตุด้วยกัน และสาเหตุหนึ่งที่นักเรียนต้องการเรียนพิเศษคือพวกเขาต้องการเรียนจากสื่อการสอนอื่นๆที่แตกต่างออกไป และมีความน่าสนใจมากกว่าหนังสือเรียน คุณจึงควรเตรียมสื่อการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับผู้เรียนและส่งผลให้นักเรียนประสบความสำเร็จในการเรียนมากกว่าเดิม
ตัวอย่างสื่อการสอนที่ได้รับความนิยม
- การใช้หนังสือนิทาน นิยาย นวนิยาย หนังสืออ่านเล่น ในการสอนภาษาอังกฤษ
- การใช้สิ่งของที่จับต้องได้ในการสอนคณิตศาสตร์ เช่น นำคุ้กกี้ ลูกแก้ว บล็อคไม้ มาใช้ในการสอนการนับ การบวกการลบ สำหรับเด็กปฐมวัย
- คลิปวิดิโอจากเว็บไซต์เพื่อการศึกษาต่างๆ เป็นการเรียนรู้ผ่านภาพเสมือนจริง ทำให้การเรียนมีชีวิตชีวามากขึ้น
- การใช้เกมมาช่วยในการสอน เช่น เกมเศรษฐีช่วยอธิบายเรื่องเงิน เรื่องหนี้หรือแม้แต่ภูมิศาสตร์ เป็นต้น นอกจากนี้ เกมอาจนำมาใช้เพื่อละลายพฤติกรรม, เพื่อทำให้นักเรียนผ่อนคลายทำให้เด็กรู้สึกสนุกกับการเรียน
- บัตรคำมีประโยชน์ในการสอนคำศัพท์ ช่วยกระตุ้นการได้ยินและการมองเห็น
- ดินเหนียว ดินน้ำมัน นอกจากจะช่วยบริหารกล้ามเนื้อมือและส่งเสริมจินตนาการ ยังนำมาประยุกต์ใช้เป็นสื่อการสอนวิชาต่างๆได้อีกด้วย
- ซอฟท์แวร์คอมพิวเตอร์และแอพพลิเคชันเพื่อการศึกษา ช่วยดึงดูดความสนใจของนักเรียนในยุคดิจิตอลได้เป็นอย่างดี
เล่นเกมส์เพิ่มความสนุกสนาน
การเล่นเกมส์เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยทำให้การเรียนมีสีสันและสนุกสนาน ไม่น่าเบื่อ ติวเตอร์อาจสอดแทรกเกมส์ระหว่างการสอน เป็นการสอนผ่านเกมส์หรือใช้เกมส์เพื่อคลายความเครียดระหว่างพักก็ได้ นอกจากความสนุกแล้ว เกมส์ยังสร้างความท้าทายเล็กๆ ให้กับนักเรียน เป็นการกระตุ้นให้เกิดความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ ฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา และยังช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูสอนพิเศษกับนักเรียนอีกด้วย
ปรับวิธีสอนให้เข้ากับนักเรียน
ติวเตอร์ที่ดีต้องเรียนรู้และเข้าใจความแตกต่างของนักเรียนแต่ละคน แล้วปรับวิธีการสอนให้เข้ากับบุคลิกหรือพฤติกรรมของผู้เรียน ยกตัวอย่างเช่น เด็กบางคนเป็นคนเก็บตัว ไม่ชอบพูดคุย ติวเตอร์ก็ไม่ควรบังคับให้เด็กพูดหรือตอบคำถามทั้งๆที่เด็กยังรู้สึกกังวลใจ ติวเตอร์อาจใช้วิธีสื่อสารผ่านการเขียนหรือการเล่นเกมส์ก่อน แล้วค่อยๆสร้างความไว้วางใจจนกว่าเด็กจะรู้สึกผ่อนคลายที่จะพูดเอง ในขณะที่เด็กบางคนชอบเข้าสังคม ชอบการพูดคุยสนทนา ติวเตอร์อาจจะต้องมีการปรับการเรียนการสอนให้ตรงกับสไตล์ของเด็ก และมีการปฏิสัมพันธ์กับเด็กมากขึ้น เป็นต้น
เทคนิคต่างๆเหล่านี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการสอนและยังทำให้การสอนของติวเตอร์น่าสนใจมากขึ้น นอกจากเทคนิคดังกล่าวยังมีปัจจัยสำคัญในการเป็นติวเตอร์อื่นๆที่ต้องคำนึงถึง เช่น การเลือกวิชาที่จะสอน การใช้อุปกรณ์การสอนและสื่อการสอนที่มีประสิทธิภาพ การจัดตารางเวลาสอนให้เหมาะสม และสิ่งสำคัญที่สุด คือ ติวเตอร์ต้องทราบว่าจะหางานสอนพิเศษได้จากที่ไหนหรือสมัครติวเตอร์ทางใดได้บ้าง เพราะหากไม่มีนักเรียน ก็หมายถึงติวเตอร์ไม่มีรายได้นั่นเอง