ตัวเลขอารบิก 0-10 เลขอารบิกคืออะไร ใครเป็นคนคิดเลขอารบิก

ตัวเลขอารบิก (Arabic numerals) เป็นสัญลักษณ์ตัวเลขที่มีคนใช้มากที่สุดในโลกเลย ในประเทศไทย แม้จะมีการให้เด็กๆเรียนเลขไทยและคัดเลขไทยตั้งแต่ชั้นประถม แต่คงต้องยอมรับจริงๆ ว่านอกจากความสามารถในการอ่านเลขไทยแล้ว เราก็ไม่ได้ใช้เลขไทยในชีวิตประจำวันมากเท่าไหร่ เราจะใช้เลขอารบิกมากกว่า

เลขอารบิกมีอะไรบ้าง?

เลขอารบิกจะมี 10 จำนวน คือ 0, 1, 2, 3, 4, 5, 6, 7, 8, 9 ส่วนจำนวนอื่นๆก็คือการเอาเลข 10 ตัวนี้มาผสมกันนั่นเองค่ะ

ตัวเลขฮินดูอารบิกใช้ระบบเลขฐานอะไร

ระบบฮินดูอารบิก เป็นระบบสากลที่ใช้กันอย่างเป็นทางการทั่วโลก เป็นระบบที่ใช้ฐานสิบ (base ten) มีเลขโดดเป็นสัญลักษณ์ที่ใช้ด้วยกันทั้งหมด 10 รูปแบบ ได้แก่ 0, 1, 2, 3, 4, 5, 6, 7, 8, และ 9 โดยที่ค่าของตัวเลขหรือสัญลักษณ์แต่ละแบบมีค่าไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับตำแหน่งและรูปแบบที่ใช้ เช่น ตัวเลข 358 มีสามตำแหน่งดังต่อไปนี้
                8 อยู่ในตำแหน่งที่ 1     มีค่า 8
                5 อยู่มนตำแหน่งที่ 2     มีค่าเท่ากับ 50 
                3 อยู่ในตำแหน่งที่ 3     มีค่าเท่ากับ 300 

เลขฐานสิบคืออะไร

“เลขอารบิก” เป็นที่นิยมและถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย เพรระมันคือเลขฐานสิบ (base ten) ที่มีสัญลักษณ์สิบตัวแทนค่าที่แตกต่างกันในระบบจำนวน ในปัจจุบันผู้คนส่วนใหญ่คุ้นเคยและใช้เลขฐานสิบได้อย่างคล่องแคล่ว เป็นธรรมชาติ แต่ในความเป็นจริงแล้ว หลายปีที่ผ่านมายังมีเลขฐานอื่นๆที่ใช้กันในหลายพื้นที่ทั่วโลก ยกตัวอย่างเช่น ชาวเมโสโปเตเมียในสมัยโบราณก็ใช้ระบบเลขฐานหกสิบด้วยเหตุผลหลายประการ สำหรับเลขฐานหกสิบนั้นจะใช้คำนวณชั่วโมงในวันหนึ่งๆ, คำนวณวันในแต่ละปีหรือคำนวณเกี่ยวกับกลุ่มดาวต่างๆ ได้ง่ายกว่าเลขฐานสิบ ชาวอียิปต์โบราณมีแนวคิดของระบบเลขฐานสิบมาตั้งแต่ 3,000 ปีก่อนคริสตศักราช แต่รายละเอียดของระบบนั้นแตกต่างจากระบบเลขอารบิก เลขฐานสิบที่ถูกพัฒนาขึ้นในระบบเลขอารบิกอย่างที่ใช้ในปัจจุบันถูกนำมาใช้และง่ายต่อการคิดคำนวณ โดยเฉพาะในรูปแบบคณิตศาสตร์ชั้นสูง เช่น พีชคณิต, แคลคูลัสและเรขาคณิต

ตัวอย่างสำหรับการเขียนตัวเลขในระบบเลขฐานสิบหรือ base ten

3,586 มีความหมายดังต่อไปนี้ 
3,586 = (3×1,000) + (5×100) + (8×10) + (6×1) โดย
6 อยู่ในตำแหน่งที่ 1 คือ หลักหน่วย มีค่าเท่ากับหก
8 อยู่ในตำแหน่งที่ 2 คือ หลักสิบ มีค่าเท่ากับแปดสิบ
5 อยู่ในตำแหน่งที่ 3 คือ หลักร้อย มีค่าเท่ากับห้าร้อย
3 อยู่ในตำแหน่งที่ 4 คือ หลักพัน มีค่าเท่ากับสามพัน
ดังนั้น 3,568 อ่านว่า สามพันห้าร้อยหกสิบแปด

ชนชาติใดคิดค้นเลขอารบิก

เลขอารบิก ถูกคิดค้นขึ้นในประเทศอินเดียระหว่างปีศตวรรษที่ 6 ถึงศตวรรษที่ 7 และเข้ามาที่ยุโรปราวศตวรรษที่ 12 ผ่านงานเขียนของนักคณิตศาสตร์ชาวตะวันออกกลางค่ะ โดยเฉพาะงานของ อัลคอวาริซมีย์ (al-Khwarizmi) ผู้วางรากฐานด้านคณิตศาสตร์สมัยใหม่และอัลคินดี (al-Kindi) นักปรัชญา นักคณิตศาสตร์ นักฟิสิกส์ที่มีชื่อเสียงแห่งยุคสมัยนั้นเลย

ใครเป็นคนคิดเลขอารบิก?

คนคิดเลขอารบิกจริงๆแล้วเป็นนักคณิตศาสตร์ชาวอินเดียที่มีชื่อว่ามุฮัมมัด อิบน์ มูซา อัลคอวาริซมีย์ (Muhammad ibn Musa al-Khwarizmi) ซึ่งเป็นนักคณิตศาสตร์สมัยใหม่ที่มีชื่อเสียงทั้งในโลกตะวันออกและตะวันตกค่ะ ชาวเปอร์เซียนและชาวอาหรับเรียกตัวเลขเหล่านี้ว่า “เลขฮินดู” ต่อมาถูกพัฒนาเป็นเลขอารบิกในภายหลังในแอฟริกาเหนือค่ะ และในศตวรรษที่ 10 ชาวอาหรับ(ใช้ภาษาอาหรับ)ที่อาศัยอยู่ในแอฟริกาเหนือ ได้นำเลขอารบิกมาใช้ในยุโรปและอเมริกา อันนี้เป็นสาเหตุให้ตัวเลขพวกนี้ถูกเรียกว่า เลขอารบิก หรือ เลขฮินดูอารบิก ค่ะ

เริ่มแรกเนี่ยเลขอารบิกมีหลายรูปแบบ มันไม่เป็นมาตรฐานเท่าไหร่ เพราะนักคณิตศาสตร์ยังไม่สามารถตกลงกันได้ว่าจะใช้รูปแบบไหนเป็นมาตรฐาน ทำให้คนใช้ก็เลือกใช้รูปแบบที่ตัวเองได้ประโยชน์มากที่สุดในสถานการณ์นั้นๆ

เหตุการณ์ที่สำคัญต่อมาที่ทำให้เลขอารบิกมีมาตรฐานและถูกใช้อย่างแพร่หลาย คือนักคณิตศาสตร์ชาวอิตาลีชื่อ เลโอนาร์โด ฟีโบนัชชี (เลโอนาร์โดแห่งปีซา) ได้เผยแพร่การเขียนและวิธีคำนวณระบบจำนวนฐานสิบที่ให้ค่าตามหลักแบบอารบิกที่ใช้ในปัจจุบันในหนังสือชื่อ Liber Abaci (คำภีร์แห่งการคำนวณ)

เมื่อปี ค.ศ. 1202 ตอนนั้นฟีโบนัชชีอายุได้เพียง 32 ปีเท่านั้นเองค่ะ เหตุการณ์นี้ทำให้หลายคนยกย่องเขาว่าเป็นนักคณิตศาสตร์ที่เก่งที่สุดในยุคกลางเลย

ต่อมาในศตวรรษที่ 15 มีการใช้เลขอารบิกอย่างแพร่หลายในยุโรป จนกระทั่งปลายศตวรรษที่ 18 ที่ตัวเลขทั้งหมดในยุโรปได้เปลี่ยนมาใช้เลขอารบิกที่ใช้ในปัจจุบัน

ทำไมถึงใช้เลขอาราบิก

ในยุคแรกๆ ระบบตัวเลขทุกรูปแบบจะมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันอยู่ กล่าวคือ พวกมันต้องใช้สัญลักษณ์จำนวนมากเพื่อเขียนหรือบันทึกจำนวนหรือเลขเพียงหนึ่งตัว และในแต่ละจำนวนหรือตัวเลขที่มีค่ามากขึ้นก็ต้องสร้างสัญลักษณ์ใหม่ขึ้นมาแทนจำนวนนั้นไปเรื่อยๆ แต่ระบบในตัวเลขอารบิกเนี่ยเรานำสัญลักษณ์ต่างๆ มาใช้ซ้ำเพื่อสร้างตำแหน่งใหม่และค่าใหม่ได้ ทำให้เราใช้เลขอารบิกเขียนจำนวนมากๆ ได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุดเลยค่ะ ตัวเลขอีกแบบที่สามารถนำสัญลักษณ์เดิมมาใช้ซ้ำได้คือ เลขโรมัน แต่ไม่ได้รับความนิยมเท่าเพราะเลขโรมันมีจุดสิ้นสุด และยังไม่มีสัญลักษณ์แสดงเลข 0 อีกด้วยค่ะ

การค้นพบเลข 0 เป็นการค้นพบยิ่งใหญ่ที่สำคัญของระบบนี้เลยค่ะ ซึ่งถูกพัฒนาโดยชาวมายัน ก่อนหน้านั้นระบบที่ระบุตำแหน่งของสัญลักษณ์แบบเก่าไม่มีเลข 0 แต่ใช้การเว้นว่างไว้แทน ทำให้ยากที่จะแยกความแตกต่างระหว่างตัวเลขบางตัว เช่น 63 กับ 603 หรือ 12 กับ 120 เป็นต้น การมี 0 และนำเลข 0 มาใช้ ช่วยให้ทุกคนเขียนจำนวนต่างๆได้ชัดเจน เข้าใจได้ง่ายขึ้นและตรงกัน

ข่าวลือ

มีข่าวลือว่าค่าของเลขอารบิกมาจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนมุมของตัวเลข แต่ไม่มีหลักฐานใดๆเลยที่ยืนยันว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องจริง นอกจากนั้นสมัยแรกๆ การเขียนตัวเลขอารบิกก็ไม่ได้เขียนแบบปัจจุบันเป๊ะๆ บางตัวก็คล้ายกัน บางตัวก็ดูเหมือนกัน บางตัวนี่ไม่ได้มีหน้าตาเหมือนตัวปัจจุบันที่ใช้เลย จึงน่าจะสรุปได้ว่าข่าวลือก็คือข่าวลือเท่านั้นค่ะ ไม่น่าจะใช่เรื่องจริงแต่อย่างใด

การเข้ารหัส

การเข้ารหัสหรือการแปลงเลขอารบิกเป็นรหัสแบบอื่นๆ เช่น รหัสมอส, รหัส ASCII เป็นต้น ซึ่งรหัสที่ได้นำไปใช้ในการสื่อสารทางไฟฟ้า วิทยุ และการสื่อสารทางดิจิตอลอื่นๆค่ะ

ตัวเลขเเบบใหม่(เลขอารบิก)เริ่มใช้ในไทยสมัยใด

ประเทศไทยเมื่อก่อนใช้ตัวเลขไทยมาตั้งแต่สมัยพ่อจุนรามคำแหงมหาราช ซึ่งเป็นการนำตัวอักษรเขมร (ขอม) มาดัดแปลง ก่อนที่เรามีเลขอารบิกใช้กันอย่างแพร่หลายในประเทศไทยเหมือนในปัจจุบันเนี่ย ประเทศไทยมีระบบเลขไทยเป็นของตัวเอง ซึ่งมีจุดเริ่มต้นและได้รับอิทธิพลมาจาก ”เลขฮินดู” ค่ะ เช่นเดียวกับประเทศเพื่อนบ้านเลย ไม่ว่าจะเป็นเขมรหรือลาว ซึ่งยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าระบบเลขอารบิกนั้นเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่มีหลักฐานภาพยืนยันว่าเลขอารบิกที่นิยมใช้กันในหมู่ชาวยุโรปเริ่มเข้ามาในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ที่เรามีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศมากขึ้น และเลขอารบิกเริ่มนำมาใช้อย่างเป็นทางการในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยให้ยกเลิกการใช้เลขไทย เปลี่ยนมาใช้เลขอารบิกแทนค่ะ (ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉ. ลงวันที่ 24 พ.ย 2485 )

วิชาเลขหรือคณิตศาสตร์เป็นวิชาพื้นฐานที่ทุกคนต้องเรียน ทักษะที่คุณได้จากการเรียนคณิตศาตร์คุณสามารถนำไปต่อยอดกับวิชาอื่นๆได้อีกมากมาย ดิฉันเชื่อว่าทุกคนสามารถเก่งเลขได้ อยู่ที่ว่าคุณมีความสนใจและใส่ใจมากแค่ไหน เพราะวิชาเลขเป็นวิชาแรกๆที่เราจะได้เรียนกันอยู่แล้ว และการสอนเลขในเด็กเล็กจะมีความสำคัญมาก โดยคนเราจะชอบเรียนเลขหรือไม่ อาจจะเริ่มมาจากการเรียนการสอนของครูสอนเลขตั้งแต่อายุน้อยๆเลย หากครูสอนเลขทำให้การสอนเป็นเรื่องสนุก เด็กๆก็จะชอบเรียนเลขและเก่งเลขได้ไม่ยากเลยค่ะ

อัพเดทล่าสุด: